ผู้ชมทั้งหมด 959
ปตท.สผ. ตั้งงบลงทุนปี 2565 ราว 5.6 พันล้านดอลลาร์ ไม่รวม M&A พร้อมวางเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมโตขึ้นจากปี 2564 ที่คาดว่าจะทะลุ 4.1 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คาดราคาน้ำมัน ไตรมาส 4 อยู่ในกรอบ 65-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หนุนผลงานครึ่งปีหลังโตต่อเนื่อง
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินในปี 2565 บริษัท ตั้งเป้าหมายจะมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่คาดว่าจะทำได้กว่า 412,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ตั้งไว้อยู่ที่จาก 405,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 3 แหล่ง ได้แก่ กำลังการผลิตหลักจากอ่าวไทย คือ แห่งเอราวัณและบงกช เพิ่มขึ้นราว 60-70% และกำลังผลิตจากโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ จะเริ่มเข้ามาอีก 15,000 บาร์เรลต่อวัน
ขณะที่งบลงทุนในปี2565 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5,600 ล้านดอลลาร์ ไม่รวมการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) ซึ่งในส่วนของ M&A ตอนนี้ยังไม่ใช่เป้าหมายหลักของบริษัท แต่หากมีโอกาสดีๆเข้ามาและตรงตามเป้าหมายการดำเนินงานในอนาคต ก็พร้อมที่จะพิจารณา โดยปตท.สผ. ยังโฟกัสการลงทุนใน 5 ประเทศหลัก คือ ไทย มาเลเซีย ยูเออี โอมาน และเมียนมา
“ปีหน้ายอดขายน่าจะเพิ่มขึ้นพอสมควร โดยปริมาณการขายปี 2564-2568 เฉลี่ยจะโตปีละ 6% ส่วนราคาน้ำมัน หากโควิด-19 คลี่คลาย ก็น่าจะอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และไม่หวือหวาก็จะเป็นระดับราคาที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ของปีนี้ คาดว่าจะผลประกอบการจะเติบโตขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่มีรายได้รวม 1,768 ล้านดอลลาร์(เทียบเท่า 55,624 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 222 ล้านดอลลาร์(เทียบเท่า 7,140 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 66% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าจะได้รับปัจจัยหนุนทั้งจากปริมาณการขายปรับเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ไตรมาส 4 คาดว่า ราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับ 65-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อีกทั้งบริษัท ยังเดินหน้าลดต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ให้ลงไปสู่เป้าหมายอยู่ที่ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ภายในปี 2573 จากช่วงครึ่งปีแรก ลดต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost)ลดลงมาอยู่ที่ 27.57 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
สำหรับกรณียุติการพัฒนาโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน เป็นการชั่วคราวจากจากกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่เมือง Palma ประเทศโมซัมบิก ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งโครงการพัฒนาและก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน (Mozambique LNG) ประมาณ 20 กิโลเมตรนั้น ขณะนี้ สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากประสานกองกำลังแอฟริกาเข้าไปช่วย ทำให้คาดว่าจะสามารถกลับเข้าไปดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ในช่วงต้นปี 2565 และเริ่มการผลิตได้ช่วงปลายปี 2567 ซึ่งโครงการนี้จะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ประกอบด้วย 2 สายการผลิต (train) กำลังการผลิตรวม อยู่ที่ 13 ล้านตันต่อปีจากแหล่งโกลฟินโญ-อาตุม โดยบริษัท พีทีทีอีพี โมซัมบิก แอเรีย 1 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ถือสัดส่วนการลงทุนในโครงการดังกล่าว 8.5%
นายพงศธร กล่าวถึงความคืบหน้าการเข้าพื้นที่โครงการแปลง G1/61(แหล่งเอราวัณ) และโครงการแปลง G2/61 (แหล่งบงกช) ตามเงื่อนไขสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC)นั้น ในส่วนของแหล่งบงกช ซึ่ง ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ในปัจจุบันอยู่แล้ว คาดว่าจะสามารถลงนามโอยทรัพย์สินกับภาครัฐได้ภายในปีนี้ แต่ในส่วนของแหล่งเอราวัณ ขณะนี้ บริษัทยังไม่ได้รับการยินยอมให้เข้าพื้นที่ ส่งผลให้การดำเนินงานต่าง ๆ ล่าช้าจากกำหนดไปค่อนข้างมาก ซึ่งโครงการนี้มีสัญญาดำเนินงานอยู่ที่ 10 ปี ตามเงื่อนสัญญา PSC ฉะนั้น เมื่อเข้าพื้นที่ได้ล่าช้า บริษัทก็เตรียมหารือกับภาครัฐถึงการปรับเงื่อนไขการดำเนินงานในโครงการนี้ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“ตอนนี้เราก็มีหลายเงื่อนไขที่จะต้องพูดคุยกับภาครัฐ ซึ่งเบื้องต้นรัฐก็เข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ได้คาดคิดและพร้อมร่วมมือในการปรับเงื่อนไข”
อย่างไรก็ตาม จากความล่าช้าในการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ คาดว่าจะทำให้กำลังการผลิตก๊าซฯ หายไปประมาณ 300-400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเงื่อนไขเพดานขั้นต่ำที่ต้องผลิตให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2565 ซึ่งในส่วนนี้ทั้ง 3 ฝ่าย คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และปตท.สผ. ก็ได้ประสานงานร่วมกันเพื่อดูแลปริมาณก๊าซฯที่หายไป เช่น การนำเข้า LNG บางส่วนเข้ามาเสริมความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศ
โดยในส่วนของ ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ ขึ้นมาทดแทน ซึ่งในส่วนของแหล่งบงกช เพดานขั้นต่ำตามเงื่อนไข PSC จะต้องผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2565 ซึ่งปัจจุบันก็ผลิตอยู่ในระดับ 800-900 ล้านลูกบาศก์ต่อวัน จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน ดังนั้น แม้ว่าปัญหาความล่าช้าในการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ อาจจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ ปตท.สผ.บาง แต่ก็สามารถชดเชยได้จากการเพิ่มกำลังการผลิตจากแหล่งอื่นๆขึ้นมาได้