PTTEP ลั่นปริมาณการขายก๊าซฯครึ่งปีหลังโตกว่าครึ่งปีแรก

ผู้ชมทั้งหมด 963 

ปตท.สผ. คาดปริมาณการขายปิโตรเลียมครึ่งปีหลังโตขึ้นจากครึ่งปีแรก หลังเร่งปั๊มกำลังผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย คาดทั้งปี 66 แตะระดับ 464,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครึ่งปีแรก 4.25 บาทต่อหุ้น ลั่นจ่อเข้าพื้นที่แหล่งโมซัมบิกฯปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า พร้อมคงเป้าส่งมอบ LNG ลำแรกได้ปี 2570

นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยในงาน Oppday Q2/2023 บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2566 โดยระบุว่า แนวโน้มผลประกอบการของบริษัท ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่า ปริมาณการขายปิโตรเลียมจะเติบโตขึ้นจากช่วงขึ้นปีแรก หรืออยู่ที่ 470,000- 480,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากโครงการทั้งในและต่างประเทศ โดยในไตรมาส 3 ปีนี้ คาดว่าปริมาณการขายจะอยู่ที่ 470,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และเฉลี่ยทั้งปีนี้ อยู่ที่ 464,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งโดยหลักมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณ(G1/61) จากเดิม 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ในช่วงเดือนเม.ย. 2567

รวมถึงการเร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งอื่นๆ เช่น แหล่งบงกช(G2/61) ที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ที่ 840 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สูงกว่าเงื่อนไขสัญญาPSC กำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำอยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคาดว่า จะรักษาอัตราการผลิตไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันไปถึงสิ้นปีนี้

อีกทั้ง ยังเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งอาทิตย์ ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และยังเป็นโครงการแรกของบริษัทที่โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาตกลงกับหน่วยงายที่เกี่ยวข้อง โดยทั้ง 3 โครงการนี้ มีกำลังการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทย รวมกันกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ส่วนแนวโน้มราคาก๊าซฯ คาดว่า ไตรมาส 3ปีนี้ จะอยู่ที่ 5.8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) เฉลี่ยทั้งปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ในกรอบ 27-28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และ EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 70-75% ตามที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้  อยู่ที่ระดับกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์

ด้านความคืบหน้าการลงทุนธุรกิจใหม่ ล่าสุด ปตท.สผ. และ 5 บริษัทพันธมิตรชั้นนำระดับโลกได้ชนะการประมูลสัมปทานการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ในแปลงสัมปทาน Z1-02 รัฐสุลต่านโอมาน อายุสัมปทาน 47 ปี ซึ่งบริษัทได้ลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้วซึ่งโครงการนี้จะครอบคลุมกระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบครบวงจร ตั้งแต่พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม น่าจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 5 กิกกะวัตต์โดยตั้งเป้าผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573 ที่อัตราประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี และผลิตแอมโมเนีย เพื่อส่งออก คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 1.2 ล้านตันต่อปี โดยบริษัทจะเริ่มศึกษารายละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนต่อไป โครงการนี้นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของ ปตท.สผ. ในการเดินหน้าพัฒนาแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่แห่งอนาคตซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

รวมถึง การลงทุนของบริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด (VARUNA) ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทลูก คือ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ซึ่งมีแผนใช้เทคโนโลยีจากโดรนและดาวเทียมมาใช้เก็บข้อมูลพื้นที่การเกษตรและป่าไม้ จัดทำและตรวจสอบการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตให้กับเจ้าของพื้นที่การเกษตร หรือ เจ้าของหุ้นส่วนที่ได้รับสัมปทานพื้นที่ป่าไม้ และจะพัฒนาแพลตฟอร์มจำหน่ายคาร์บอนเครดิตเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย โดยคาร์บอนเครดิตที่จะซื้อขายบนแพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีทั้งมาตรฐานไทยและมาตรฐานสากล ทำให้สมารถเข้าถึงผู้ซื้อทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกได้ง่ายขึ้น พร้อมกันนี้ VARUNA ยังได้ระดม Series A  ก็ประสบความสำเร็จได้นักลงทุนเชิงกลยุทธ์เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของ VARUNA เพื่อที่จะเป็นผู้นำธุรกิจในด้านนี้ต่อไป

ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในลักษณะของโซลาร์ฟาร์มนั้น ปตท.สผ. ได้เริ่มทดลองเดินเครื่องการผลิต ขนาด 10 เมกะวัตต์ ที่ จ.พิษณุโลก ช่วงปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับโครงการ S1 ของบริษัทแล้ว ซึ่งก็ถือเป็นโครงการพลังงานหมุนเวียนโครงการแรกของบริษัท

ด้านความคืบหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของบริษัท ณ สิ้นไตรมาส 2  บริษัทดำเนินการสะสมได้ประมาณ 1.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากปีฐาน 2563 โดยบริษัทได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050)

นางสาวอรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กล่าว่า บริษัท มีนโยบายจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ที่อัตรา 4.25 บาทต่อหุ้น โดยเป็นไปตามนโยบายจ่ายเงินปันผลของบริษัท ที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิ และหากพิจารณาข้อมูลย้อนหลังที่ผ่านมาจะพบว่า บริษัทจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยอยู่ที่ 40-45% ของกำไรสุทธิ

สำหรับความคืบหน้า โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก ปัจจุบัน สถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดยล่าสุดทางผู้ดำเนินโครงการ ประเมินว่าจะสามารถกลับเข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ได้ในช่วงปลายปีนี้ หรือ ต้นปีหน้า และยังคงเป้าหมายจะส่งมอบ LNG ลำแรกภายในปี 2570