PTTEP หวัง “ไทย-กัมพูชา” พัฒนาพื้นที่ OCA ร่วมกัน

ผู้ชมทั้งหมด 573 

ปตท.สผ. คาดหวัง “ไทย-กัมพูชา” ก้าวผ่านเรื่องเส้นแบ่งเขตแดน เดินหน้าพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมร่วมกัน สร้างประโยชน์ความมั่นคงทางพลังงานระหว่าง 2 ประเทศ เชื่อเทคโนโลยีขุดเจาะสำรวจพัฒนาไปไกล หนุนผลิตก๊าซฯเชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้นภายใน 5 ปี หากตกลงกันได้

การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ สมเด็จมหาบวรธิบดีฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา และภริยา โดยในวันที่ 7 ก.พ.นี้ มีกำหนดการเข้าพบกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการการคลัง ซึ่งในการนี้ วันที่ 6 ก.พ.นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติเห็นชอบในบางเรื่องก่อนที่จะเจรจากับนายฮุน มาเนต ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ โดยคาดหมายว่าหนึ่งในเรื่องที่จะมีการพูดคุยกันคือ การเจรจาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claimed Area-OCA) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศในอนาคตต่อไป

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.(PTTEP) ระบุว่า การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชานั้น เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องหาวิธีตกลงกันให้ได้ โดยไม่ต้องแบ่งเส้นเขตแดน แต่ควรมองหาวิธีที่จะมาพัฒนาร่วมกันได้อย่างไร โดยหากตกลงร่วมกันได้ ทาง บริษัทฯ จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้อย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะมองวิธีการพัฒนาในรูปแบบใด หรือ หากรัฐจะเลือกรูปแบบเปิดประมูล บริษัทฯก็พร้อมที่จะเข้าร่วม อย่างไรก็ตามในส่วนของ บริษัทฯก็มีโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ในพื้นที่อ่าวไทยที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว


“ตอนพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน ก็เกิดจากแนวคิดที่บอกว่า We Agree to Disagree คือ ตกลงว่าจะไม่ตกลงกันด้วยเส้นเขตแดน แล้วจึงเดินหน้าพัฒนาร่วมกัน ก็หวังว่า การเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาครั้งนี้ จะเกิดขึ้นในรูปแบบนั้นเช่นกัน”


สำหรับการพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชานั้น เป็นพื้นที่ ที่ยังไม่มีการสำรวจชัดเจน ไม่มีการทำ การสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Survey) รวมถึงยังไม่มีการเจาะหลุดสำรวจฯ เป็นเพียงการณ์คาดเดาว่าน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านปิโตรเลียม เนื่องจากพื้นที่ด้านล่างดูแล้วมีลักษณะโครงสร้างที่ต่อเนื่องจากแหล่งก๊าซฯในอ่าวไทย เช่น แหล่งเอราวัณ และบงกช จึงน่าจะมีศักยภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีการสำรวจพื้นที่ให้เกิดความชัดเจน ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ได้รับสัมปทานหรือได้สิทธิเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวก็ตาม


ทั้งนี้ หากตกลงกันได้จริง เชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างรวดเร็วขึ้น เนื่องจากเทคนโนโลยีขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก คาดว่าจะใช้เวลาสำรวจและผลิตก๊าซฯได้ภายใน 5 ปี จากอดีตที่ต้องใช้เวลาประมาณ 9 ปี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้ง 2 ประเทศ


ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องปรับแนวทางการเจรจากับทางกัมพูชา โดยการเจรจาจะต้องเดินหน้าเฉพาะเรื่องของการเข้าไปใช้ประโยชน์ทางด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน ที่ไม่เกี่ยวกับการแบ่งเขตแดน เพื่อหาแนวทางร่วมกันพัฒนาพื้นที่ OCA ใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติ โดยรูปแบบการเจรจาจะต้องตั้งองค์กรหรือบริษัทร่วมกันทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาเข้าไปมีหุ้นส่วน และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ การเจรจาจะต้องเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ร่วมในการเจรจาด้วย โดยเฉพาะภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และจะต้องเจรจาเฉพาะเรื่องพลังงาน แยกเรื่องของเส้นเขตแดนออก เพราะการนำเรื่องเขตแดนเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ต้องมีบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งๆที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ที่สำคัญการนำเรื่องแบ่งเขตแดนไปผูกติดกับการใช้ประโยชน์เรื่องพลังงานที่อยู่ใต้ดินจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ

สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชานั้น มีเนื้อที่ 26,000 ตารางกิโลเมตรในเบื้องต้นคาดการณ์ว่ามีทรัพยากรปิโตรเลียมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมัน มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท หากมีการร่วมมือกัน และเริ่มปิโตรเลียมในแหล่งนี้ก็จะช่วยลดการนำเข้า LNG ได้อย่างมีนัยสำคัญ