RATCHเตรียมเซ็นPPAโรงไฟฟ้ากวางจิ1ขนาด1,320MWต้นปี64

ผู้ชมทั้งหมด 1,017 

RATCH คาดเซ็น PPA โรงไฟฟ้ากวางจิ1 ขนาดกำลังการผลิต 1,320 เมกะวัตต์ต้นปี 64 ลุ้นปิดดีลอีก 2 โครงการในช่วงที่เหลือของปีนี้หนุนกำลังการผลิตใหม่ปีนี้เป็นตามเป้า 780 เมกะวัตต์ดันกำลังการผลิตรวมสิ้นเป็น 63 เป็น 8,714 เมกะวัตต์ เล็งออกหุ้นกู้ 8 พันล้านบาทเสริมแกร่งขยายลงทุน ขณะที่ผลประกอบการปีนี้รับทำผลงานโตเกินปี62 ลำบากเหตุพิษโควิด-19

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกวางจิ 1 ขนาดกำลังการผลิต 1,320 เมกะวัตต์ในเวียดนาม คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับรัฐบาลเวียดนามได้ต้นปี 64 หลังจากได้ลงนามสัญญา JDA พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกวางจิ 1 ร่วมกับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO และบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 63 ที่ผ่านมา

สำหรับโครงการดังกล่าวนั้นบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 30% ส่งผลให้มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการถือหุ้น นอกจากนี้บริษัทคาดว่าจะสามารถปิดดีลซื้อกิจการโครงการใหม่ได้อีกอย่างน้อย 1-2 โครงการในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งในประเทศลาว อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และเชื้อเพลิงฟอสซิวทั้งที่เป็นโรงไฟฟ้าโครงการใหม่ และโครงการที่ผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลัง 63 บริษัทจึงมั่นใจว่าจะกำลังการผลิตไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มเป็นในระดับ 537 เมกะวัตต์ตามเป้าหมาย จากครึ่งปีแรก 63 นั้นมีกำลังการผลิตใหม่อยู่ 243 เมกะวัตต์ และในปีนี้จะส่งผลให้มีกำลังการผลิตเข้ามาใหม่เป็นไปตามเป้าหมาย 780 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งหมดในสิ้นปี 63 เป็น 8,714 เมกะวัตต์

 ส่วนโครงการลงทุนในธุรกิจจัดหาเชื้อเพลิงชีวิมวลอัดแท่ง (Wood pellet) ที่จะลงทุนในสปป.ลาวนั้นปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน เพื่อทำสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิงระยะยาวกับผู้ซื้อหลายราย เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล หลังจากนั้นจะสามารถสรุปงบลงทุนและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติงบลงทุนต่อไป โดยบริษัทได้รับสัมปทานพื้นที่เพื่อปลูกพืช 4 หมื่นไร่ ซึ่งจะดำเนินการในเฟสแรกก่อน 2 หมื่นไร่ เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง 6 หมื่นตัน/ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 1/64 และเริ่มจำหน่ายในปี 65 หากสามารถดำเนินการได้ดีก็จะพัฒนาในส่วนที่เหลืออีก 2 หมื่นไร่

นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างเตรียมออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 8 พันล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ในระดับ “AAA” เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ชำระคืนเงินกู้เดิมที่มีอยู่ของบริษัท รวมถึงใช้สำหรับการขยายธุรกิจในโครงการพลังงานหมุนเวียน ซึ่งการนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก ส่วนภาพรวมผลประกอบการปี 63 ยอมรับว่าจะทำให้เติบโตมากกว่าปี 62 นั้นลำบาก เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก 63 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง และมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าบางแห่ง

DCIM\100MEDIA\DJI_0136.JPG

อย่างไรก็ตามผลประกอบการปี 63 นั้นคาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงปี 62 ที่มีรายได้รวม 43,220 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5,963 ล้านบาท ซึ่งยังมีปัจจัยหนุนในช่วงครึ่งปีหลัง 63 จากโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่เข้ามาในระบบ ประกอบกับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำงึม 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย กำลังผลิตติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ ในสปป.ลาว ช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำเพิ่มช่วยให้ผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการรับรายได้จากการให้บริการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง และยังรับรู้รายได้ในธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เซนเซอร์ และค่าเช่าสัญญา Sigfox คาดว่าปีนี้ให้บริการได้ 350 จุด

ส่วนกรณีที่บริษัท ไทยลาวลิกไนท์ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท กล่าวหาว่าบริษัทละเมิดความลับทางการค้าของโจทก์ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ในลาวนั้น ล่าสุดศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว แต่ยังต้องรอดูว่าคู่กรณีจะยื่นอุทธรณ์อีกหรือไม่