SCGP หวังเปิดประเทศ 1 พ.ค.65 หนุนยอดขายแพคเกจจิ้งไตรมาส2

ผู้ชมทั้งหมด 1,811 

SCGP คาดผลการดำเนินงานไตรมาส2 ปี65 เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่นโยบายเปิดประเทศ 1 พ.ค.นี้ ช่วยหนุนยอดขายแพคเกจจิ้ง หวังรายได้ปี65 ทะลุเป้า 140,000 ล้านบาท เผยยังเดินหน้าทำดีล M&P เล็งอินโดนีเซีย เวียดนาม

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัท ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะเติบโตมากกว่า เนื่องจาก มีการรับรู้รายได้จากการสร้างการเติบโตร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Merger and Partnership : M&P) ของ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab ประกอบกับ นโยบายเปิดประเทศของภาครัฐตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 เป็นต้นไป จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและนักธุรกิจเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมและการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้แพคเกจจิ้งเพิ่มขึ้นและเป็นผลดีต่อยอดขายของบริษัทในไตรมาส 2 ปีนี้  

“แนวโน้มความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนในปีนี้ คาดว่า จะทยอยฟื้นตัวจากการที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 และเปิดประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นและเกิดการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์รัสเซีย–ยูเครนยังคงยืดเยื้อ ทำให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป”

อย่างไรก็ตาม SCGP ยังเดินหน้าทำรายได้จากการขายในปีนี้ ที่ระดับ 140,000 ล้านบาทให้ได้ตามเป้าหมายหรือมากกว่า และ โดยวางงบลงทุนในปีนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้แผน 5 ปี (ปี 2565–2569) ที่จะใช้งบลงทุนรวม 100,000 ล้านบาท โดยประมาณ 15,000 ล้านบาท จะใช้สำหรับขยายกิจการและ M&P ซึ่งจะพิจารณาลงทุนอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เน้นธุรกิจในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) ที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาวและได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเทศที่มีฐานการลงทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย

พร้อมกับการยึดมั่นในการดำเนินงานตามแผนบริหารความต่อเนื่องของการดำเนินงาน (Business Continuity Management) เพื่อลดความเสี่ยงจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร เน้นด้านการมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติการ (Operational Excellence) การสร้างคุณค่าจากการผนึกกำลังทางธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมท่ามกลางแนวโน้มภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นอกจากนี้ SCGP ได้ยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ SCGP ได้เข้าร่วม Science Based Targets initiative (SBTi) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติต่าง ๆ และในปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำกว่า 2,000 แห่งทั่วโลกที่เข้าร่วมในโครงการ เพื่อตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานที่มีการวัดผลทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและสอดคล้องกับเป้าหมายตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต เพื่อให้ SCGP สามารถบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการขาย 36,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 1,658 ล้านบาท ลดลง 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA อยู่ที่ 4,887 ล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมรายการพิเศษในไตรมาสก่อน กำไรสำหรับงวดและ EBITDA ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ยังคงสูงกว่าไตรมาสก่อน

โดยรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นมาจากการเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และการรับรู้รายได้จากการสร้างการเติบโตร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Merger and Partnership : M&P) ของ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab รวมถึงยอดขายจากกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Business) ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ทั้งบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ จากปริมาณความต้องการในกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค การส่งออกอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน อาหารแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง และปริมาณความต้องการและราคาของเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้นจากความกังวลด้านการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

ขณะที่ ส่วนของกำไรสำหรับงวดที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็นผลมาจากต้นทุนด้านวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรม ทั้งนี้ SCGP มีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและวางแผนบริหารจัดการล่วงหน้า โดยบริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายปริมาณถ่านหินระยะยาวที่ต้องใช้ในปีนี้ เพื่อลดผลกระทบจากราคาที่ผันผวนและปริมาณที่มีจำกัด รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อย่างต่อเนื่อง และวางแผนรับมือปัจจัยความไม่แน่นอนต่าง ๆ เช่น การบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การพิจารณาโครงการลงทุนด้วยความรอบคอบ เป็นต้น