รัฐ อัดงบอีก 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท อุ้มราคาพลังงานระยะสั้นอีก 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.)

ผู้ชมทั้งหมด 710 

“สุพัฒนพงษ์” เผยรัฐจัดงบอีก 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท อุ้มราคาพลังงานระยะสั้นอีก 3 เดือน(เม.ย.-มิ.ย.) ลั่น  2 ปีใช้งบรวมกว่า 2 แสนลบ. พร้อมคลอดมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ช่วยครึ่งหนึ่งของราคาส่วนต่างดีเซลที่เกินจาก 30 บาทต่อลิตร เริ่ม1 พ.ค. 2565 ยกเลิกช่วยเหลือราคาดีเซลกลุ่มพรีเมียม ค่าแก๊สโซฮอล์ให้วินมอเตอร์ไซค์ 5 บาทต่อลิตร จำนวน 50 ลิตรต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตรึงค่าไฟฟ้าประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยเดือน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า 3 หน่วยงาน ภาครัฐ คือธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ประเมินผลกระทบสถานการณ์ราคาพลังงานจากปัญหารัสเซียบุกยูเครนและการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังมีความน่าเป็นห่วง จึงได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบระยะสั้นอีก 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.2565) พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

สำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานนั้น ได้จัดเตรียมงบประมาณอีก 43,602-45,102 ล้านบาท หลังจากได้ใช้งบไปแล้วกว่า 1.6 แสนล้านบาท ในการดูราคาพลังงานของประชาชน มาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ มี.ค. 2563- มี.ค. 2565) ซึ่งหากรวมทั้งหมดจะเป็นเงินที่รัฐบาลใช้ดูแลราคาพลังงานนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 จนไปถึงเดือน มิ.ย. 2565 จำนวน 2.1 แสนล้านบาท

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการดูแลราคาพลังงานที่จะดำเนินการใน 3-4 เดือนจากนี้ ได้แก่1.ตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร จนถึง 30 เม.ย. 2565 หลังจากนั้นหากราคาน้ำมันโลกยังสูงต่อเนื่องและทำให้ราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร ส่วนที่เกิน 30 บาทนั้นภาครัฐจะช่วยเหลือครึ่งราคา เช่น หากราคาน้ำมันดีเซลขึ้นมาอยู่ที่ 38 บาทต่อลิตร ภาครัฐจะช่วยครึ่งหนึ่งคือ 4 บาทต่อลิตร ทำให้ประชาชนจ่ายค่าดีเซลที่ 34 บาทต่อลิตร เป็นต้น คาดว่าจะใช้เงินดูแลราคาดังกล่าวประมาณ 33,140 ล้านบาท

นอกจากนี้ จะยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลกลุ่มพรีเมียม เนื่องจากไม่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้นกลุ่มนี้จะต้องกลับไปใช้ราคาน้ำมันดีเซลตามราคาตลาดโลกที่แท้จริง ซึ่งกลุ่มนี้มีปริมาณการใช้ดีเซลอยู่ 1.4 ล้านลิตรต่อวันขณะที่ปริมาณการใช้ดีเซลทั้งประเทศอยู่ที่ 65 ล้านลิตรต่อวัน เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่นำไปอุดหนุนราคาดีเซลตั้งแต่ ก.ย. 2565-ปัจจุบัน แล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท ทำให้กองทุนฯ เข้าสู่ภาวะติดลบกว่า 3 หมื่นล้านบาท สำหรับปัจจุบันกองทุนฯ ได้ช่วยชดเชยราคาดีเซลอยู่ 8.74 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้ราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร

2. ปรับขึ้นราคา LPG เดือนละ 1 บาทต่อกิโลกรัม (15 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม) ระหว่างเดือนเม.ย.-พ.ค.-มิ.ย. 2565 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 นี้ ซึ่งจะทำให้ราคาจำหน่าย LPG เดือนเม.ย.อยู่ที่ 333 บาทต่อกิโลกรัม, เดือนพ.ค. อยู่ที่ 348 บาทต่อกิโลกรัม และเดือนมิ.ย. 2565 อยู่ที่ 363 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันยังตรึงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม แม้จะปรับขึ้นราคาดังกล่าวแต่กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชี LPG ก็ยังช่วยพยุงราคาจำหน่ายไว้กว่า 100 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เนื่องจากราคาตลาดโลกที่แท้จริงอยู่ที่ 463 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินดูแลราคาส่วนต่างดังกล่าวประมาณ 6,380 ล้านบาท

อีกทั้ง ภาครัฐยังคงให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ซื้อ LPG ราคาถูกต่อไป โดยเพิ่มวงเงินในบัตรฯ เพื่อใช้เป็นส่วนลดซื้อ LPG อีก 55 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ต่อ 3 เดือน จากเดิมมีวงเงินอยู่ 45 บาทต่อถังต่อ3 เดือน ดังนั้นผู้ถือบัตรฯ จะได้รับการช่วยเหลือมากขึ้นรวมเป็น 100 บาทต่อถังต่อ 3 เดือนแทน โดยคาดว่าต้องใช้งบดูแลในส่วนนี้ประมาณ 200 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ก็ให้การช่วยเหลือกลุ่มหาบเร่แผงลอยที่ลงทะเบียนไว้กับ ปตท. ให้ส่วนลดไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 2565) ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 5,500 คนต่อเดือน ซึ่ง ปตท.จะใช้งบดูแลส่วนนี้ประมาณ 1.65 ล้านบาท

3.มาตรการช่วยเหลือราคาก๊าซ NGV ให้ตรึงราคาไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 2565) มีผู้ใช้ประมาณ3.18 แสนราย และ ปตท.ยังช่วยเหลือราคา NGV กลุ่มแท็กซี่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ให้ซื้อได้ในราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีผู้ได้รับการช่วยเหลือประมาณ 1.74 หมื่นราย ซึ่งมาตรการนี้ ปตท.จะเป็นผู้แบกรับภาระเองทั้งหมดประมาณ1,761 ล้านบาท

4.การช่วยเหลือกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยให้ส่วนลดเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 5 บาทต่อลิตร จำนวน 50 ลิตรต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน(เม.ย.-มิ.ย. 2565) รวมเป็นเงิน 120 ล้านบาทที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแล

และ 5. การดูแลค่าไฟฟ้าประชาชน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน (งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 ) ให้ใช้อัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) 1.39 สตางค์ต่อหน่วย หรือค่าไฟฟ้า 3.78 บาทต่อหน่วย เหมือนงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2565 เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่แท้จริงงวดพ.ค. –ก.ย. 2565 กำหนดค่า Ft ไว้ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้ารวม 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งกลุ่มนี้คาดว่าจะมีประมาณ 20 ล้านรายทั่วประเทศ คาดว่าต้องใช้งบประมาณดูแลค่าไฟฟ้าดังกล่าวประมาณ 2-3.5 พันล้านบาท