THAI กางแผน 5 ปี อัดงบลงทุน 1.7 แสนล้าน จัดหาเครื่องบิน 80 ลำ พร้อมเทรดหุ้น 4 ส.ค.นี้

ผู้ชมทั้งหมด 94 

THAI กางแผน 5 ปี อัดงบลงทุน 1.7 แสนล้าน จัดหาเครื่องบิน 80 ลำ เร่งปรับปรุงที่นั่งบนเครื่อง ลงทุน MRO ลั่นสภาพคล่องแข็งแกร่ง กระแสเงินสด 1.2 แสนล้าน พร้อมกลับมาซื้อขายใน SET 4 ส.ค.นี้   

นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI กล่าวว่า พร้อมในการนำหุ้น “THAI” กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งในวันที่ 4 สิงหาคม 2568 หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา จากการประสบความสำเร็จในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการ โดยการบินไทยพร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น และนักลงทุน ด้วยผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตในอนาคตที่ชัดเจน และยืนยันว่าจะไม่มีการนำองค์กรกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ

โดยสถานะของบริษัทฯ ในวันนี้ถือได้ว่าอยู่ในจุดที่ดีที่สุดในทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางการเงิน ประสิทธิภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขัน บริษัทฯ มีความชัดเจนอย่างยิ่งในเรื่องของทิศทางการเจริญเติบโต และยุทธศาสตร์ที่จะใช้ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างองค์กรที่วันนี้ ไม่เพียงแต่ขนาดและความซับซ้อนที่เหมาะสมต่อขนาดธุรกิจ ค่าใช้จ่ายบุคลากรที่อยู่ในระดับที่มีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่น และสามารถเปลี่ยนแปลงตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

“หลังจากที่ได้ดำเนินตามแผนฟื้นฟู จนปัจจุบันออกจากแผนฟื้นฟูจะเห็นได้ว่าการบินไทยดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว เป็นอิสระ โดยภาครัฐก็พร้อมช่วยสนับสนุนความเข้มแข็งของการบินไทย สนับสนุนเงินทุน ซึ่งทำให้ตอนนี้ภาครัฐถือหุ้น 38% นับว่าช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้การบินไทย และถ้าต้องการส่วนทุน รัฐบาลก็พร้อมจะช่วย ดังนั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำองค์กรกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ” นายลวรณกล่าว

นายลวรณ กล่วาว่า ตนมั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจของการบินไทยจากนี้ไปจะสามารถเดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง ยังไม่เห็นสัญญาณลบอะไรที่น่ากังวล เรื่องเศรษฐกิจและราคาน้ำมันเป็นเพียงความเสี่ยงระยะสั้น ซึ่งการบินไทยได้วางแผนรับมือป้องกันไว้แล้ว อย่างไรก็ตามการดำเนินธุรกิจด้านการบินนั้นหัวใจสำคัญของการสร้างรายได้ให้เติบโตก็คือการที่มีฝูงบินเพียงพอ โดยการบินไทยมีแผนรับมอบเครื่องบิน Boeing 787 จำนวน 45 ลำ และปัจจุบันจะมีการพิจารณาแผนจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม (Option Order) อีก 35 ลำ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมไทยแลนด์ที่นำไปเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด

ตั้งเป้ามาฝูงบิน 150 ลำในปี 76

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI กล่าวถึงภาพรวมกลยุทธ์การเติบโตของการบินไทยว่า อัตราการเติบโตที่เห็นในปัจจุบันไม่ใช่เป็นเพียงการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 แต่เป็นแรงขับเคลื่อนที่มาจากโครงสร้างหลากหลายด้านและการวางกลยุทธ์ระยะยาวอย่างชัดเจน ซึ่งประกอบด้วย (1) การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กรให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มความโปร่งใสในทุกกระบวนการ ดำเนินงาน สามารถตรวจสอบได้

(2) การปรับโครงสร้างฝูงบินและจำนวนเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพโดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีเครื่องบินจำนวน 150 ลำในปี 2576 ซึ่งลดจำนวนแบบเครื่องบินจาก 8 แบบก่อนเข้าแผนฟื้นฟูกิจการเหลือเพียง 4 แบบ และลดจำนวนเครื่องยนต์จาก 9 แบบเหลือ 5 แบบส่งผลให้สามารถควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานและซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจากปัจจุบันที่ 26% เป็น 35% ภายในปี 2572 เหมือนที่เคยทำได้ในอดีตที่ผ่านมา

(3) การขยายเส้นทางและความถี่ในการบินเพื่อมุ่งสู่การเป็น regional network airline เชื่อมต่อระดับภูมิภาคและระหว่างทวีป (4) การปรับปรุงบริการห้องโดยสารและช่องทางการขายเพื่อยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า (5) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพซึ่งรวมถึงอย่างเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน เพื่อให้ใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้น และสร้างโอกาสในการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากช่องทางการขายตรง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ คือปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การบินไทยพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้การบินไทยก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมการบินระดับภูมิภาคอย่างแข็งแกร่งในอนาคต

อัดงบลงทุน 5 ปี 1.7 แสนล้าน ลุยจัดหาเครื่องบินใหม่

นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี THAI กล่าวว่า การบินไทยได้วางแผนการลงทุน 5 ปี (2568 – 2574) วงเงินประมาณ 1.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนจัดหาเครื่องบินใหม่ วงเงินราว 1.2 แสนล้านบาท โดยเป็นเครื่องบินที่ได้ทำสัญญาจัดหากับโบอิ้งแล้วจำนวน 45 ลำ ซึ่งจะทยอยชำระตามกำหนดเริ่มรับมอบในปี 2570 นอกจากนี้การบินไทยจะลงทุนปรับปรุงบริการและที่นั่งบนเครื่องบิน วงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท การลงทุนเพื่อรองรับซ่อมเครื่องยนต์ และการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) โดยแบ่งเป็น ศูนย์ซ่อมดอนเมือง และสุวรรณภูมิที่ให้บริการในปัจจุบัน และลงทุนศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท 

อย่างไรก็ตามสำหรับแผนการลงทุนในระยะ 5 ปีนั้นในช่วงปี 2568 และ 2569 จะใช้กระแสเงินสดของตัวเองดำเนินการลงทุน ส่วนในช่วงระหว่างปี 2570 ซึ่งเป็นช่วงที่ทยอยรับมอบเครื่องบินก็จะพิจารณาหาเงินกู้ระยะยาว แต่ก็ต้องดูด้วยว่าในช่วงนี้ผลประกอบการเป็นอย่างไร และมีกระแสเงินสดที่เพียงพอหรือไม่หากมีกระแสเงินสดที่เพียงพอก็อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงิน