TOP ทุ่มลงทุนปี67 กว่า 540 ล.ดอลลาร์ ลุยโครงการCFP เสร็จเต็มระบบปี68

ผู้ชมทั้งหมด 700 

“ไทยออยล์” ทุ่มกว่า 540 ล้านดอลลาร์ ลงทุนในปี 2567 ลุยโครงการCFP เสร็จเต็มระบบปี 2568 ดันกำลังการกลั่นแตะ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ขณะที่หน่วยผลิตเบนซิน-ดีเซล มาตรฐานยูโร 5 เริ่มไตรมาส 1 ปีหน้า แย้มเตรียมรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ครบกำหนด 7 พันล้านบาท คาดปีหน้า ดีมานด์น้ำมันเบนซิน-JET เติบโตตามทิศทางเศรษฐกิจ ลุ้นสเปรดสายอะโรเมติกส์ ฟื้นตัว

น.ส.ทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการเงิน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยในงาน Oppday Q3/2023 PTT เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566 โดยระบุว่า ปี2567 บริษัท ตั้งงบลงทุนอยู่ที่กว่า 540 ล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็น 430 ล้านดอลลาร์ จะใช้สำหรับลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด ( Clean Fuel Project: CFP ) ที่จะมีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 94% จะเปิดCOD เต็บระบบในปี 2568 ขณะที่หน่วยผลิตเบนซิน และดีเซล ตามมาตรฐานยูโร 5 จะเริ่มดำเนินการผลิตในไตรมาส 1 ปี2567 ส่วนเงินลงทุนที่เหลือกว่า 100 ล้านดอลลาร์ จะใช้สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัทมีกระแสเงินสดในมืออยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง พร้อมรองรับขยายการลงทุนในอนาคต

ส่วนเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืน 1 ปี วงเงิน 7,000 ล้านบาทนั้น บริษัท เตรียมที่จะรีไฟแนนซ์ โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะออกหุ้นกู้ หรือ เป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งไม่ว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดนั้น เชื่อว่าจะส่งผลให้ต้นทุนการเงินของบริษัทอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเงินของบริษัท

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส4 ปี2566 คาดว่า จะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เนื่องจากค่าการกลั่น(GRM) ปรับลดลง รวมถึงไม่มีกำไรจากสต็อกน้ำมัน แต่ค่าการกลั่นเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ในระดับสูง รวมถึงภาพรวมค่าการกลั่นในปีหน้า คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่ด้านกำลังการผลิต จะเดินเครื่องการผลิตเต็มในระดับเกิน 100% รวมถึงจะมีปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นบางหน่วยในระยะสั้น

นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจในปี 2567 คาดว่าในส่วนของซัพพลายน้ำมันดิบ จะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ดีมานด์ จะเติบโตอยู่ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่วนใหญ่จะมาจากการเพิ่มขึ้นของน้ำมันเครื่องบิน(JET) ที่ทยอยฟื้นตัวหลังโควิด-19 คลี่คลายลง ฉะนั้นในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า อาจเกิดปัญหาขาดดุลน้ำมันเล็กน้อยเนื่องจากน้ำมันสำรองคงคลังอาจปรับลดลง แต่เชื่อว่าดีมานด์จะเข้าสู่สมดุลในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า โดยคาดว่า ราคาน้ำมันดูไบ เฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ค่าการกลั่น GRM มีสัญญาณย่อตัวลง แต่เฉลี่ยทั้งปีนี้ น่าจะอยู่ในระดับ 7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งยังคงสูงกว่าระดับสูงสุดในช่งก่อนเกินโควิด-19 ที่ระดับ 5-6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

“ปี2567 คาดว่า จะมีดีมานด์น้ำมันเข้ามาสนับสนุนผลประกอบการโรงกลั่นฯให้เติบโต โดยเฉพาะน้ำมัน JET ที่ฟื้นตัว อยู่ที่ 5 แสนบาร์เรลต่อวัน ส่วนเบนซินและดีเซลก็ยังเติบโตอยู่ ขณะที่สต็อกน้ำมันทั่วโลกยังอยู่ในระดับเมื่อเทียบกับรอบ 5 ปีที่ผ่านมาก็เป็นปัจจัยสนับสนุนกลุ่มโรงกลั่น ด้านซัพพลาย จะมีโรงกลั่นใหม่ เพิ่มกำลังผลิตเข้ามาประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ในปี 2568 เป็นต้นไป การลงทุนในโรงกลั่นใหม่จะลดลง และส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการกลั่นทั่วโลกอยู่ในระดับค่อยข้างสูงหรือใกล้ 85% ส่งผลให้ GRM ได้รับแรงหนุนค่อยข้างดี”

ส่วนตลาดน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ ปี2567 มองว่า น้ำมันเบนซิน ยังเติบโตใกล้ระดับ 4% ตามทิศทางยอดขายรถที่เติบโตได้ดี และน้ำมัน JET ยังเติบโตมากระดับ 24% ตามการฟื้นตัวหลังโควิด-19 ขณะที่การใช้ดีเซล คาดว่าจะทรงตัวเนื่องจากความต้องการใช้เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าลดลง แต่จะเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของขนส่งแทน ส่วนน้ำมันเตา คาดว่าจะลดลง 2% ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง

ด้านตลาดปิโตรเคมี โดยสายอะโรเมติกส์ ตัวสาร PX และเบนซีน (BZ) คาดว่า จะเป็นปีที่ธุรกิจเริ่มฟื้นตัว หลังซัพพลยใหม่เข้าในตลาดน้อยกว่าดีมานด์ทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์(สเปรด) ปรับตัวดีขึ้น

ส่วนสายโอเลฟินส์ ยังท้าทายเนื่องจากยังมีซัพพลายใหม่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นทั้งสาร PP และ PE โดยคาดว่า ในปี 2568 จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนเนื่องจากซัพพลายใหม่ลดลง ขณะที่น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ในปี 2567 จะมีแรงกดดันจากโรงกลั่นใหม่ที่เข้ามา และในส่วนของยางมะตอย ที่ขายหลักในประเทศไทยยังเติบโตดี ซึ่งจะช่วยสนับสนุนยอดขาย และสเปรดในปีหน้าได้