ผู้ชมทั้งหมด 798
ไทยออยล์ คาด ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และวิกฤติราคาพลังงาน หนุนราคาน้ำมันดิบและผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปีนี้ ดีต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า
นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยในงาน Opportunity Day บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2564 ว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่า ตลาดน้ำมันดิบจะได้รับแรงหนุนไปจนถึงต้นปีหน้า จากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และราคาก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในระดับสูง ทำให้มองว่าระดับ GDP ทั่วโลกจะอยู่ที่ระดับ 4.9% และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับสูงถึง 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ขณะที่โอเปกพลัส ยังคงการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นที่ระดับ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงเดือนก.ย.2565 ทำให้หลายสำนักคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นระดับ 5 แสน ถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่า ราคาน้ำมันดิบจะเริ่มกลับมาอ่อนตัวลงในช่วงไตรมาส 2-4 ของปีหน้า
ส่วนค่าการกลั่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง โดยตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4ปีนี้ ตลาดสิงคโปร์ GRM เฉลี่ย 7.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โตขึ้นราว 2 เท่าตัวจากไตรมาส 3 เนื่องจากสินค้าทุกตัวดำเนินการได้ดี โดยแก๊สโซลีนมีดีมานด์เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค จากโควิดดีขึ้น ขณะที่น้ำมันอากาศยาน(Jet) และดีเซล เริ่มมีทิศทางบวกมากขึ้นเช่นกัน จากการทยอยเปิดประเทศ
“มองว่า ปีหน้าค่าการกลั่นเฉลี่ยจะกลับมาใกล้เคียงกับปี 2019 หรืออยู่ที่กว่า 3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบ น่าจะอยู่ในกรอบบวกลบที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยครึ่งหลังของปี65 ตลาดน้ำมันดิบจะเข้าสู่สมดุลมากขึ้น แม้ช่วงสั้นราคาจะขึ้นไป 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล”
นางสาวทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการฝ่าย วางแผนการเงิน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ระบุว่า สถานการณโควิด-19 ได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดยในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ จะเห็นว่าประชากรโลกเริ่มฉีดวัคซีน 1 เข็มแล้วกว่า 50% ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่วนในประเทศไทยรัฐบาลก็ได้เริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. และเปิดประเทศในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ และความต้องการใช้น้ำมันเริ่มฟื้นตัวกลับมา ดังนั้น ความต้องการใช้น้ำมันเริ่มกลับมาในทิศทางที่ดี โดยความต้องการใช้น้ำมันเบนซีนของโลก กลับมาสู่ระดับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว หลังจากดัชนีวัดการเดินทางทางรถยนต์ที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 97% ของก่อนโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของน้ำมันอากาศยาน แม้จะยังไม่กลับมาสู่ช่วงก่อนโควิด-19 แต่ยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง และช่วงไตรมาส 4ปีนี้ คาดจะเติบโตต่อเนื่อง จากหลายๆประเทศเริ่มเปิดประเทศ ทำให้ความต้องการน้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้น