ผู้ชมทั้งหมด 1,538
“ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง” จับตา รัฐคลอดโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน เฟส 2 ลุ้นเปลี่ยนเจ้าภาพใหม่ กระทรวงเกษตรฯดำเนินโครงการแทน มุ่งเสริมรายได้เกษตรกร พร้อมศึกษาต่อยอดโรงไฟฟ้าชีวมวล-ชีวภาพ สู่โมเดลBCG ตามนโยบายรัฐ หนุนกำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 200 เมกะวัตต์ในปี 2-3 ปี พร้อมลุยศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มอีก 4-6 แห่ง หวังดันกำลังผลิตทะลุเป้า 50 – 100 เมกะวัตต์
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยในงาน Opportunity Day บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2564 โดยระบุว่า บริษัท ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 250 เมกะวัตต์ ภายในปี 2666 ซึ่งแบ่งเป็น เชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพ อยู่ที่ 200 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน อยู่ที่ 115 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงขยะ เพิ่มเป็น 50 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน อยูที่ 10 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของเชื้อเพลิงขยะ คาดว่าจะทำได้ทะลุเป้าหมายไปอยู่ที่กว่า 100 เมกะวัตต์ได้ หลังจากสยาม พาวเวอร์ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ขยะแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้ภาครัฐเปิดใจเกี่ยวกับประโยชน์ของโรงไฟฟ้าขยะมากขึ้น
ส่วนเชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพ ที่จะก้าวไปสู่เข้าหมาย 200 เมกะวัตต์นั้น ขณะนี้ บริษัทยังรอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน แน่นนอนว่าจะมีการจัดททำโครงการระยะที่ 2 หรือ โรงไฟฟ้าชุมชน เฟส 2 เกิดขึ้น แต่จากข้อมูลที่ภาคเอกชนได้รับในเบื้องต้นนั้น อาจจะมีการปรับเปลี่ยนเจ้าภาพในการดำเนินโครงการจากปัจจุบันเป็นกระทรวงพลังงาน ไปเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แทน เพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมายในการเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงานอย่างแท้จริง หลังพบว่า โครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์แรก ซึ่งเป็นในรูปแบบประมูลแข่งขัน(บิดดิ้ง)เมื่อคำนวนเป็นรายได้เกษตรกรแล้วยังไม่เพียงพอ โดยคาดว่า จะมีการลงนามMOU กับกระทรวงเกษตรฯ ในเร็วๆนี้
อีกทั้ง ภาครัฐกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Model) ที่ประมาณการณ์ว่าจะสร้าง GDP ถึง 4.3 ล้านล้านบาท และโมเดลนี้จะสร้าง s-curve ที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาต่อยอดโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพเพื่อไปสู่ s-curve ดังกล่าว โดยหากมีความคืบหน้าจะเปิดเผยข้อมูลในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย) และสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 – 50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี จะส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์
“ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษา และพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มเติม อีกประมาณ 4-6 แห่ง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาอัตราผลตอบแทนในการลงทุนของแต่ละโครงการ เพื่อสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนในระยะยาว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 2565 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 250 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 “
ขณะที่ ปี 2565 คาดว่า รายได้ของบริษัท จะเติบโตขึ้นราว 30-35% จากปีนี้ที่คาดว่า จะมีรายได้ อยู่ที่ 2,400 ล้านบาท โดยจะมาจากกำลังผลิตใหม่ 3 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าขยะ(นนทบุรี) ของ สยาม พาวเวอร์ และยังมีโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน และโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา ที่จะ COD ในปีหน้า ซึ่งจะหนุนกำลังการผลิตปีหน้า เพิ่มเป็น 125 เมกะวัตต์ จากปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 110 เมกะวัตต์
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินงานของบริษัท ในไตรมาส 4 ปีนี้ บริษัทฯ เตรียมความพร้อมที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในโครงการโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ขนาดกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะแห่งแรกของบริษัทฯ โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้าแล้ว ดังนั้น คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้า และเมื่อโรงไฟฟ้าขยะฯ สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ ก็จะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเป็น 116.3 เมกะวัตต์ จากเดิม 106.8 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวลที่ COD ไปแล้ว จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 และ TPCH 2 และยังมีโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลานและโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีแผนกำหนด COD ในปีหน้า เชื่อว่าโครงการทั้งหมด จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ผลงานของบริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคง