ผู้ชมทั้งหมด 848
TPIPP รุกสู่ธุรกิจสีเขียว ตั้งเป้าเลิกใช้ถ่านหิน ในปี2568 ขณะที่ปี 65 ทุ่ม 1,000 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิต RDF อีก 4,500 ตันต่อวัน พร้อมปรับปรุงหม้อไอน้ำ B6 ลดการใช้ถ่านหิน อีก 1,500 ล้านบาท คาดรายได้โตใก้ลเคียงปี 64 ที่ประเมินว่าจะต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 12,000-13,000 ล้านบาทเล็กน้อย หลังราคาเชื้อเพลิงพุ่ง ลั่นโปรเจคที่จะนะ จ่อทำ EIA ช่วง ธ.ค.นี้ หรือ ม.ค.ปี65
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยในงาน Opportunity Day บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน Q3/2021 วันที่ 1 ธ.ค. 2564 โดยระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 คาดว่า จะเติบโตใกล้เคียงกับปี 2564 แม้ว่าเบื้องต้นคาดว่า จะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมีรายได้ อยู่ที่ระดับ 12,000-13,000 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงถ่านหินปรับสูงขึ้น ขณะที่ปี 65 แม้ว่ารายได้จาก Adder ของโรงไฟฟ้า TG3 (18MW) และ TG5 (55MW) ที่จะทยอยหมดอายุลงในเดือน ม.ค. และส.ค.65 แต่มีรายได้จากการปรับปรุงหม้อไอน้ำของ B6 ที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลง รวมถึงการขายเชื้อเพลิง RDF ให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น ก็น่าจะส่งผลให้รายได้ใกล้เคียงกับปีนี้
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ยังขึ้นอยู่กับราคาเชื้อเพลิงซึ่งหากราคาถ่านหินไม่ปรับลดลง ก็คาดว่ารายได้จะเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ที่ผ่านมา แต่หากราคาถ่านหินปรับลดลง ก็น่าจะทำให้ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นได้
ขณะที่ ปี 2565 บริษัท มีแผนจะใช้เงินลงทุน ประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตเชื้อเพลิง RDF เพิ่มอีก 4,500 ตันต่อวัน จากที่มีโรงงาน RDF อยู่แล้ว 3 แห่ง ซึ่งจะเริ่มลงทุนในปีหน้า และใช้เงินอีก 1,500 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงหม้อไอน้ำ B6 เพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงRDF แทนการทยอยลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลง ซึ่งจะเริ่มลงทุนช่วงปี 65-66 รวมถึงมีแผนปรับปรุงหม้อไอน้ำ B8 เพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงRDF แทนการทยอยลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลง อีกประมาณ 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มลงทุนปี 66-68
ทั้งนี้ บริษัท ตั้งเป้าหมายจะเติบโตในโรงไฟฟ้าสีเขียว โดยจะจะเลิกใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน เป็น 0% ภายในปี 68 จากปัจจุบันมีสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินอยู่ที่ 50% จากกำลังการผลิตไฟฟ้าปัจจุบัน อยู่ที่ 440 เมกะวัตต์ เป็นเชื้อเพลิงถ่านหิน อยู่ที่ 220 เมกะวัตต์ ซึ่งในปี 2566 บริษัท ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มเป็น 464 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเหลือโรงไฟฟ้าถ่านหิน อยู่ที่ 150 เมกะวัตต์ และปี 2568 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ 582 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นไฟฟ้าสีเขียวทั้งหมด โดยไม่มีการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินอีกต่อไป
นายภัคพล ยังกล่าวถึงโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต หรือ Prototype City of Advanced Futuristic Industries (PAFI) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่เป็นการส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 สวนอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่จะเป็นการลงทุนในธุรกิจก้าวหน้าแห่งอนาต และธุรกิจเบาและเกษตรกรรม ซึ่งได้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ จาก BOI แล้ว และอยู่ระหว่างรอการพิจารณา
ส่วนที่ 2 สมาร์ทซิตี้ ที่จะรองรับการใช้เทคโนโลยี 5G ครอบคลุมทั้งเมือง มีศูนย์การเงิน และศูนย์สุขภาพสมัยใหม่ เป็นต้น
ส่วนที่ 3 ท่าเรือน้ำลึก ซึ่งได้ยือขอรับสิทธิประโยชน์จาก BOI แล้ว โดยจะมีทั้งท่าเรือเทกอง ท่าเรือคอนเทนเนอร์ ตู้สินค่า และท่าเรือรับ-จ่ายLNG รวมถึงศูนย์กระจายสินค้า
และส่วนที่ 4 ศูนย์รวมพลังงานสะอาด ซึ่งจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า รวม 3,700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าก๊าซ 1,700 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าโซลาร์ฯ 1,000 เมกะวัตต์ พลังงานลม 800 เมกะวัตต์ และชีวมวลกับขยะ อีก 200 เมกะวัตต์ โดยได้ยื่นของรับสิทธิประโยชน์จากBOI แล้ว
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ได้ผ่านการเห็นชองจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 ที่มีมติเห็นชอบขยายผลสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดยปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (ผังเมือง) และการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่า จะเริ่มจัดทำ EIA ค.1 ได้ในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ หรือต้นเดือน ม.ค.ปี65
นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ทีพีไอ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กล่าวว่า บริษัท อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าขยะชุน รอบใหม่ ตามโควตา 400 เมกะวัตต์ในแผน PDP 2018 Rev.1 ซึ่งในส่วนของ 200 เมกะวัตต์แรกได้รับการพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว โดยในส่วนนี้ มีโรงไฟฟ้า 2 แห่งของบริษัทที่ผ่านการอนุมัติ คือ จ.นครราชสีมา และจ.สงขลา คาดว่า กกพ.จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี65
รวมถึง โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังมีโควตาผลิตไฟ้ฟาจากขยะชุมชน อีก 200 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่รวมอยู่ในโควตา 400 เมกะวัตต์ดังกล่าว ที่คาดว่าจะส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยบริษัทก็อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเข้าร่วมในโครงการนี้
นอกจากนี้ ตามการจัดทำผ่าน PDP ฉบับใหม่ หรือ PDP 2022 ที่ภาครัฐจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม อีก 200 เมกะวัตต์นั้น บริษัท ก็มีประสบการณ์ในด้านนี้ และพร้อมที่ศึกษาโอกาสขยายการลงทุนต่อไป