TPVA เสนอ “รัฐ” ปลดล็อกติดตั้งโซลาร์ฯผลิตไฟทุกขนาด ไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4

ผู้ชมทั้งหมด 1,153 

สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย หนุนแผน PDP ฉบับใหม่ เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด พร้อมเสนอรัฐ ปลดล็อก ติดตั้งโซลาร์ฯผลิตไฟฟ้าทุกขนาดไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รง.4 ทบทวนเก็บอัตราวิลลิ่งชาร์จ ตามระยะทางสายส่ง เอื้อเปิดเสรีผลิตไฟฟ้า  

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน ยังทำให้ภาคธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรมหลายประเภทประสบปัญหา โดยธุรกิจใช้บริการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลพวงจากวิกฤตดังกล่าว

ภูวดล สุนทรวิภาต นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย (TPVA) ระบุว่า แนวโน้มการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เติบโต และพบว่า สมาชิกของสมาคมฯบางราย ประสบปัญหาจนล้มเลิกกิจการลง เพราะเมื่อไม่มีงานเข้ามา ก็ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนที่จะเลี้ยงพนักงาน ทำให้ต้องมีการเลิกจ้างพนักงาน แต่ปัจจุบัน เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายขึ้น ความต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็เริ่มกลับมา และทำให้บางบริษัทไม่สามารถจัดหาพนักงานได้

“ตอนนี้ จำนวนสมาชิกของสมาคมฯ ยังเท่าเดิม แต่มีบางรายที่แอคทีฟน้อยลง ซึ่งรายที่ล้มเลิกกิจการจะเป็นลักษณะของรายเล็ก แต่บริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นมาหชน ยังคงมีสถานะแข็งแกร่งอยู่ ฉะนั้น แผนPDP ฉบับใหม่ของภาครัฐ จะเข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการติดตั้งโซลาร์เซลล์อยู่รอดได้ เพราะกำหนดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในปริมาณที่มากพอสมควร”

ทั้งนี้ ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP) ฉบับใหม่ และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP ประเมินว่า ในอนาคตประเทศไทย จะมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้นเป็น 14,000 เมกะวัตต์ ภายใน 30 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ และมีแผนจะรับซื้อตาม PDP ฉบับใหม่ อีกประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นโซลาร์ฟาร์ม ส่วนกำลังการผลิจที่เหลือ คาดว่า จะเป็นการติดตั้งจากภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองโดยไม่ขายเข้าระบบ (IPS) หรือ Independent Power Supply

โดยคาดว่า ภาครัฐจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบภายในปีนี้ และน่าจะเห็นการยื่นแข่งขันเสนอโครงการผลิตไฟฟ้าดุเดือด ซึ่งจะเป็นการแข่งขันด้านเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่แตกต่างกัน ส่วนลำดับการเปิดรับซื้อไฟฟ้านั้น ประเมินว่า จะกำหนดรับซื้อเชื้อเพลิงไบโอแมส/ไบโอแก๊ส ก่อน จากนั้น รับซื้อพลังงานลม พลังงานโซลาร์เซลล์ผสมกับแบตเตอรี่ และค่อยรับซื้อโซลาร์เซลล์ล้วน  

ส่วนต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในปัจจุบัน เท่าที่ประเมินจากอัตรารับซื้อไฟฟ้า Feed-in Tariff หรือ FiT ที่กำหนดอยู่ที่ 2.10 บาทต่อหน่วยนั้น จะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ซึ่งเป็นวงเงินที่ไม่รวมค่าที่ดิน และค่าสายส่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแผน PDP ฉบับใหม่ จะกำหนดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในปริมาณมาก แต่ก็ยังมีอุปสรรคสำหรับผู้ลงทุนติดตั้ง โดยเฉพาะเรื่องของกฎระเบียบ และการขอใบอนุญาตต่างๆ เช่น ปัจจุบันที่กำหนดให้ผู้ที่ติดตั้งโซลาร์ฯใช้เอง หากมีกำลังการผลิตติดตั้งเกิน 1 เมกะวัตต์ จะต้องมีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รง.4 เพราะถูกกำหนดว่าเข้าค่ายโรงงาน

ดังนั้น สมาคมฯ จึงขอเสนอภาครัฐ ปลดล็อกกฎระเบียบสำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ทุกขนาด มีสิทธิ์เทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้าจากลม ที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รง.4 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการติดตั้งแผงโซลาร์ฯผลิตไฟฟ้าใช้เองอย่างแพร่หลาย และสอดรับกับนโยบายเปิดเสรีไฟฟ้าในอนาคต ส่วนหากภาครัฐเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยนั้น ก็สามารถกำหนดเรื่องของมาตรฐานอุปกรณ์ต่างๆ กำกับไว้ได้ เช่น   ระบบอินเวอร์เตอร์ ควรเป็นยี่ห้อใด หรือ กำหนดสเปกอุปกรณ์ต่างๆให้ชัดเจน เป็นต้น

นอกจากนี้ ในเรื่องของคิดอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (วิลลิ่งชาร์จ) ที่ปัจจุบันยังหาข้อสรุป อัตราที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายยังไม่ได้นั้น ทางสมาคมฯ อยากเสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) พิจารณาอัตราฯ โดยใช้หลักการเรื่องระยะทางของสายส่ง หรือ ระยะที่ตั้งของสถานีไฟฟ้าย่อย (substation) เข้ามากำหนดอัตราที่แตกต่างกัน แทนการใช้หลักการเรื่องการคำนวนวงเงินลงทุนรวมในการก่อสร้างสายส่งทั่วประเทศ เพราะจะเป็นอัตราฯจัดเก็บที่สูงเกินไป

“เราอยากเสนอให้จัดเก็บตามระยะทาง การใช้บริการสายส่ง เช่น หากไม่ข้ามสายส่ง ก็ควรเก็บอยู่ที่ 50 สตางค์ต่อหน่วย และหากข้าม substation ก็อาจจัดเก็บอยู่ที่ 70 สตางค์ต่อหน่วย หรือ ข้าม substation ในระยะทางที่ไกลออกหลาย substation ก็อาจจะเป็นอัตรา 1 บาทต่อหน่วย เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม การคิดอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (วิลลิ่งชาร์จ) นั้น เบื้อต้น ยังอยู่ในกรอบ 0.85- 1.15 บาทต่อหน่วย ซึ่งเมื่อรวมกับต้นทุนผลิตไฟฟ้าแต่ละประเภท ก็ทำให้ต้นทุนค่าไฟแพงอยู่ ดังนั้น ตัวเลขที่เอกชนต้องการ มองว่า ควรอยู่ที่ 50-70 สตางค์ต่อเหน่วย ก็น่าจะเป็นตัวเลขที่เอื้อให้เกิดการลงทุนพลังงานหมุนเวียน และทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ได้

รวมถึง รัฐควรกำหนดอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (วิลลิ่งชาร์จ) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างแพร่หลาย ไม่ใช่แค่เป็นอัตราฯที่กำหนดใช้เฉพาะพื้นที่ Sandbox เท่านั้น