UAC รุกลงทุนพลังงานสะอาด หนุนเพิ่มสัดส่วนมาร์จิ้นธุรกิจพลังงาน

ผู้ชมทั้งหมด 675 

UAC คาด รายได้รวมปี2566 แตะ 2,000 ล้านบาท โตขึ้น10-15% EBITDA แตะ 20% ตามแผน ขณะที่ปีนี้ ตั้งงบลงทุน 300 ล้าน ลุยพัฒนาโครงการในมือให้สมบูรณ์ ทั้งโรงไฟฟ้าชุมชนภูผาม่าน จ.ขอนแก่น 3 เมกะวัตต์ ที่จะ COD ช่วงไตรมาส3-4 ปีนี้ เพิ่มกำลังผลิตปิโตรเลียม หมายเลข L10/43 และ L11/43 แตะ 500 บาร์เรลต่อวัน เตรียมเดินเครื่องผลิต RDF 3 ป้อนโรงปูน ช่วงมิ.ย.นี้ ลั่นพลาดคว้าสิทธิ์รับผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จ่อยื่นเสนอโครงการรอบ 2 แทน

กระแสมุ่งเน้นการลงทุน “พลังงานสะอาด” เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในต่างประเทศ รวมถึงไทย ต้องเร่งปรับตัวสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจ

บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เดิมมีฐานการเติบโตจากธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายสารเคมีและอุปกรณ์ในกลุ่มพลังงาน ปิโตรเลียม และกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ด้วยเทรนด์ของพลังงานสะอาดทำให้บริษัทปรับแผนธุรกิจโดยจะขยายการลงทุนไปยังโครงการด้านพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนมากขึ้น

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า บริษัท คาดว่า รายได้รวมในปี2566 จะอยู่ที่ระดับ 2,000 ล้านบาท หรือ เติบโตขึ้น 10-15% จากปีก่อน ที่มีรายได้รวม 1,804.92 ล้านบาท ขณะที่การเติบโตของกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี2566 คาดว่า จะเติบโตตามเป้าหมายเฉลี่ย 20% ต่อปี จากปี 2565 EBITDA อยู่ที่ 241.15 ล้านบาท จากการขับเคลื่อนการลงทุนในธุรกิจเทรดดิ้ง และธุรกิจการผลิตพลังงาน

โดยปี2566 บริษัท ตั้งลงประมาณการลงทุนราว 200-300 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นมีแผนจะใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนภูผาม่าน จ.ขอนแก่น กำลังการผลิต 3  เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงหญ้าเนเปีย์ 300 ตันต่อวัน แบ่งเป็น 2 หน่วยผลิต หน่วยละ 1.5 เมกะวัตต์ ซึ่งหน่วยแรก คาดว่าจะเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ไตรมาส 3 ปีนี้ และหน่วยที่ 2 อีก 1.5 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ไตรมาส 4 ปีนี้ โดยบริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุนในโครงการนี้อีกประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อทำให้โรงไฟฟ้ามีความสมบูรณ์มากขึ้น จากตอนก่อสร้างที่ลงทุนไปแล้วประมาณ 300 ล้านบาท

“โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จริงๆแล้วอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 5.80 บาทต่อหน่วย แต่เราบิดดิ้งมาได้ประมาณ 3.40 บาทต่อหน่วยถือว่าเหนื่อย ฉะนั้น หากมีโครงการในเฟสที่ 2 และค่าไฟฟ้าได้เท่าเดิม บริษัทคงไม่ทำ แต่ถ้าได้ 4.50-5 บาทต่อหน่วยก็น่าสนใจ ซึ่งต้องรอดูนโยบายภาครัฐด้วย แต่เป็นโครงการที่น่าจะดำเนินการต่อไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ตาม เพราะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในชุมชน และยังเคลมคาร์บอนเครดิตได้ด้วย

อีกทั้ง หลังจากบริษัท ได้รับสัมปทานจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้เป็นผู้ดำเนินการ (operator) ในกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันดิบจากแหล่งปิโตรเลียมหมายเลข L10/43 และ L11/43 จ.สุโขทัย ซึ่งในเดือน ต.ค.2565 บริษัทประสบความสำเร็จจากการขุดเจาะล็อตแรกจาก L11/43 สามารถผลิตน้ำมันดิบได้ต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ ก็มีแผนจะเปิดหลุม L10/43 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 300 บาร์เรลต่อวัน เป็น 500 บาร์เรลต่อวัน เพื่อขายให้กับ ปตท. คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 50 ล้านบาท

“การเข้าไปลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียม เป็นผลมาจาก 7-8ปีก่อน บริษัทไปสร้างโรงแยกก๊าซฯไว้ในพื้นที่ดังกล่าว และด้วยนโยบายรัฐที่ต้องการลดการเผาก๊าซทิ้ง (Flare) เราอยู่ในพื้นที่อยู่แล้วก็ถูกชักชวนให้ดำเนินการ ก็เห็นว่าเป็นโครงการขนาดเล็ก ที่น่าจะดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐเปิดสัมปทานรอบใหม่ในพื้นที่บนบก ที่เป็นขนาดเล็กๆ บริษัทก็สนใจ”  

นอกจากนี้ โครงการจัดการขยะ เพื่อผลิตพลังงานทดแทน และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ที่นำกลับมาใช้ใหม่ที่นครเวียงจันทร์ สปป.ลาว ซึ่งเฟสแรกเป็นโครงการบริหารจัดการขยะได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จ และได้มีการต่อยอดการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงจากขยะ หรือ RDF3 โดยเซ็นสัญญาขาย RDF3 ให้กับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในสปป.ลาว กำลังการผลิต 120 ตันต่อวัน คาดว่าจะสร้างเสร็จในเดือนพ.ค.นี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจเทรดดิ้ง ซึ่งเป็นการจำหน่ายสายเคมีอุปกรณ์ และเครื่องจักร โดยบริษัทเดินหน้าขยายฐานลูกค้าทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมและพลังงาน เชิงรุก ทั้งลูกค้าเดิมและกลุ่มลูค้าใหม่ โดยพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม

“สัดส่วนรายได้ของบริษัทในปี 2566 คาดว่า จะมาจากธุรกิจเทรดดิ้ง 65% และธุรกิจพลังงาน 35% แต่ในปี2566 หากได้โครงการที่อินโดนีเซียมาเพิ่ม คาดว่า สัดส่วนรายได้ธุรกิจพลังงาน จะขยับเป็น 50% โดยแม้ว่าธุรกิจพลังงานจะมีสัดส่วนรายได้น้อยกว่าเทรดดิ้ง แต่ในส่วนของมาร์จิ้นจะมากกว่า เพราะบริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท BBGI ในธุรกิจผลิตไบโอดีเซล ที่บางปะอิน โดยบริษัทถือหุ้น 30% ทำให้รับรู้กำไรจากส่วนนี้ ซึ่งไม่รวมอยู่ในรายได้”

นายชัชพล กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ บริษัท ยูเอซี เอ็นเนอร์ยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ UAC สามารถผ่านเกณฑ์การประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ได้จำนวน 6 โครงการ ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 14.25 เมกะวัตต์นั้น ล่าสุด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประการศผู้ผ่านการคัดเลือกแล้ว สรุปว่า บริษัท ไม่ผ่านการคัดเลือกสักโครงการ โดยบริษัท พร้อมที่จะรอเข้ารวมโครงการในระยะที่ 2 ที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าราว 3,660 เมกะวัตต์ต่อไป

ปัจจุบัน UAC มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือราว 13.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการโซลาร์เซลล์ 2  เมกะวัตต์ ที่จ.สมุทรปราการ และจ.สุราษฎร์ธานี ,โรงไฟฟ้าพืชพลังงาน 4.5 เมกะวัตต์ ที่จ.เชียงใหม่ และจ.ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าก๊าซฯ จ.สุโขทัย อีก 7 เมกะวัตต์