ผู้ชมทั้งหมด 320
กรมการขนส่งทางบก ดีเดย์!!! 1 มกราคม 2565 ผู้ขับรถบรรทุกวัตถุอันตราย (ท.4) ต้องมีหนังสือรับรองการขับรถวัตถุอันตรายใช้คู่กับใบขับขี่ ท.4
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การขนส่งวัตถุอันตรายในประเทศไทยมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งเชื้อเพลิงที่จำเป็นต้องมีการขนส่งไปทั่วทั้งประเทศ เพื่อสนองความต้องการใช้พลังงานของประชาชน ซึ่งหากระหว่างการขนส่งเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็อาจเป็นสาเหตุของความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าอุบัติเหตุในการขนส่งสินค้าทั่วไป
ทั้งนี้การที่ผู้ขับขี่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของวัตถุอันตราย รวมไปถึงแนวทางวิธีการในการระงับความเสี่ยงและความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายเมื่อเกิดการรั่วไหล จึงเป็นการยกระดับความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกจึงได้ดำเนินการตามความตกลงระหว่างประเทศด้านการขนส่งสินค้าอันตรายที่ประเทศไทยเป็นภาคี
โดยกำหนดให้ผู้ขับรถบรรทุกสินค้าที่เป็นวัตถุอันตรายทั้ง 9 ประเภท (ประเภทที่ 1 วัตถุระเบิด, ประเภทที่ 2 ก๊าซ,ประเภทที่ 3 ของเหลวไวไฟ, ประเภทที่ 4 ของแข็งไวไฟ, ประเภทที่ 5 สารออกซิไดส์, ประเภทที่ 6 สารพิษและสารติดเชื้อ, ประเภทที่ 7 วัสดุกัมมันตรังสี, ประเภทที่ 8 สารกัดกร่อน และประเภทที่ 9 วัตถุอันตรายเบ็ดเตล็ด) ต้องมีหนังสือรับรองการขับรถวัตถุอันตราย ควบคู่กับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่ 4 ซึ่งการจะได้รับหนังสือรับรองการขับรถวัตถุอันตรายนั้น ต้องผ่านการอบรมและทดสอบจากหน่วยงานที่กรมการขนส่งทางบกมอบหมาย โดยมีหลักสูตรอบรม จำนวน 4 หลักสูตร
ดังนี้หลักสูตรขั้นพื้นฐาน ซึ่งผู้ขับรถขนส่งสินค้าวัตถุอันตรายทุกประเภท ต้องผ่านการอบรมและทดสอบในหลักสูตรขั้นพื้นฐานทุกคน และหลักสูตรพิเศษ จำนวน 3 หลักสูตร สำหรับผู้ต้องปฏิบัติหน้าที่ขับรถวัตถุอันตรายประเภทที่ต้องการความเชี่ยวชาญเพิ่มเติม ประกอบด้วย หลักสูตรพิเศษสำหรับการขนส่งวัตถุอันตรายในรูปแบบแท็งก์, หลักสูตรพิเศษสำหรับการขนส่งวัตถุอันตราย ประเภทที่ 1 วัตถุระเบิด และหลักสูตรพิเศษสำหรับการขนส่งวัตถุอันตราย ประเภทที่ 7 วัสดุกัมมันตรังสี อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า หนังสือรับรองการขับรถวัตถุอันตรายมีลักษณะเป็นบัตรสมาร์ทการ์ดขนาดเดียวกับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถเพื่อให้สะดวกต่อการพกพา มีอายุไม่เกิน 3 ปี
โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ผู้ขับรถวัตถุอันตราย (ท.4) ต้องเข้ารับการอบรมและทดสอบตามหลักสูตรอบรมที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ตามประเภทและลักษณะการบรรทุกวัตถุอันตราย ทั้งนี้ ความปลอดภัยการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนส่งวัตถุอันตรายต้องตระหนักและไม่ยินยอมให้พนักงานขับรถซึ่งไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่ 4 (ท.4) และหนังสือรับรองการขับรถวัตถุอันตรายปฏิบัติหน้าที่โดยเด็ดขาด
รวมถึงต้องมีเอกสารการขนส่งอยู่ในรถตลอดการขนส่ง ตรวจสอบสภาพความมั่นคงแข็งแรงและอุปกรณ์ส่วนควบของรถ ตรวจสอบอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่จำเป็นในการระงับเหตุฉุกเฉิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนนของประเทศไทย