ผู้ชมทั้งหมด 478
รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริงการกำหนดคุณสมบัติประมูลงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ช่วยให้ได้ผู้รับเหมามีประสิทธิภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้มีข่าวประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง การประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รฟม. ขอยืนยันข้อเท็จจริงในประเด็นการกำหนดคุณสมบัติด้านงานโยธาและด้านเทคนิคของการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ดังนี้
1.งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกฯ เป็นโครงสร้างที่อยู่ใต้ดินทั้งหมด การก่อสร้างมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีเฉพาะ และมีเส้นทางผ่านโบราณสถานและสถานที่สำคัญหลายแห่งซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหว ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนและมีข้อจำกัดทางกายภาพ มักประสบปัญหาในระหว่างการก่อสร้างได้ เช่น กรณีน้ำใต้ดินรั่วซึมเข้าพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน กรณีหลังคาอุโมงค์ทางลอดรถไฟถล่ม กรณีผนังอุโมงค์ผันน้ำถล่มในขณะก่อสร้าง และกรณีสะพานข้ามคลองทรุดตัวจากการก่อสร้างอุโมงค์ เป็นต้น ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้เอกชนที่ขาดประสบการณ์ ไม่มีประสิทธิภาพย่อมอาจก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว คณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมการประชุม จึงได้พิจารณากำหนดเกณฑ์คะแนนในการประเมินข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค โดยมีเกณฑ์คะแนนรวมต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เพื่อให้ได้เอกชนที่มีคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับคะแนนของผู้ชนะการประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ที่ผู้ชนะการคัดเลือกในแต่ละสัญญาได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 90
2. ข้อกำหนดด้านคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ กำหนดในลักษณะเปิดกว้างให้ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถนำผลงานของผู้รับจ้างงานโยธาหลายรายมารวมกันได้ เพื่อให้มีผลงานครบถ้วนทั้ง 3 งาน ตามที่กำหนด ซึ่งเป็นปกติของงานโครงการก่อสร้างโครงการใต้ดินขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ผู้รับจ้างงานโยธาหลายรายในการดำเนินงาน
3. ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติแล้ว จะต้องผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคเป็นลำดับถัดไป โดยจะพิจารณาจากรายละเอียดข้อเสนอด้านเทคนิคที่ผู้ยื่นข้อเสนอจัดทำขึ้นเท่านั้น โดยต้องผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดร้อยละ 90 ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 1 จึงอาจไม่ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 2
อนึ่ง รฟม. ขอตั้งข้อสังเกต กรณีบุคคลบางท่านนำข้อมูลเพียงบางส่วนในเอกสารประกาศเชิญชวนมาใช้วิจารณ์ และคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ในการยื่นข้อเสนอของภาคเอกชนนั้น ควรพิจารณานำเสนอข้อเท็จจริงให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน ทั้งนี้ รฟม. ขอยืนยันว่า การกำหนดเงื่อนไขการคัดเลือก คุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานของผู้เข้ายื่นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวน ได้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เป็นการกำหนดที่เปิดกว้าง ทำให้มีผู้ที่สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกได้มากราย เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เป็นธรรม มีกระบวนการตรวจสอบจากภาคเอกชนตามระบบข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)