ผู้ชมทั้งหมด 760
มติ กบน.ลดรีดเงินดีเซล เข้ากองทุนน้ำมัน เหลือ 4.64 บาทต่อลิตร หลังราคาตลาดโลกพุ่งต่อ กดค่าการตลาดผู้ค้าฯต่ำ หวังสกัดขึ้นราคาขายปลีกทะลุ 35 บาทต่อลิตร ขณะที่รอลุ้นผลประชุมครม.พรุ่งนี้(17 ม.ค.66) ยืดอายุมาตรลดภาษีสรรพสามิตดีเซล ลง 5 บาทต่อลิตรต่อหรือไม่
การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) วันนี้(16 ม.ค.2566) มีมติปรับลดอัตราเรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซลลง 0.17 บาทต่อลิตร จาก 4.81 บาทต่อลิตร เหลือ 4.64 บาทต่อลิตร เพื่อชดเชยค่าการตลาดให้ผู้ค้าดีเซล หลังพบว่า ค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 16 ม.ค. 2566 (รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ.) อยู่ที่ 1.23 บาทต่อลิตร ต่ำกว่าที่ภาครัฐขอความร่วมมือให้คงค่าการตลาดไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตร ดังนั้น จึงปรับลดการเรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนฯ เพื่อดูแลไม่ให้ผู้ค้าน้ำมัน ปรับขึ้นราคาขายปลีกดีเซลทะลุ 35 บาทต่อลิตร
ขณะที่สถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด 15 ม.ค. 2566 กองทุนฯ ติดลบสุทธิ 116,883 ล้านบาท มาจากการนำเงินไปอุดหนุนราคาน้ำมัน 72,089 ล้านบาท และอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) 44,794 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันพรุ่งนี้ (17 ม.ค. 2566) จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล หลังมาตรการปรับลดการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ม.ค. 2566 นี้ ซึ่งทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ยังต้องการให้กระทรวงการคลัง ช่วยขยายระยะเวลามาตรการปรับลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตรออกไปอีก เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังผันผวนในทิศทางขาขึ้น และสถานะกองทุนน้ำมันฯ ยังติดลบในระดับสูง 1.16 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ หากกรณี ครม. ต่ออายุการลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร จะส่งผลดีให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้าแบบรายวันได้ต่อไป แต่หากกระทรวงคลังกลับมาเก็บภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร หรือปรับลดภาษีดีเซลเพียงแค่ 3 บาทต่อลิตร จะมีผลกระทบต่อฐานะกองทุนฯทันที เนื่องจากกองทุนฯ ต้องนำเงินไปชดเชยอัตราภาษีดีเซลที่ถูกปรับขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบกับการปรับราคาขายปลีกดีเซล