“ทริสเรทติ้ง” ขยับอันดับเครดิตองค์กร “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์”

ผู้ชมทั้งหมด 823 

ทริสเรทติ้ง ขยับอันดับเครดิตองค์กร “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” สู่ “A+” และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน สู่ “A” ขณะที่ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยคาดการณ์ว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะยังคงอยู่ในช่วงเติบโตในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยโรงไฟฟ้า IPP ขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งของบริษัทที่มีกำลังการผลิตติดตั้งเมื่อคิดตามสัดส่วนการลงทุนรวมกันประมาณ 3,700 เมกะวัตต์นั้น จะทำให้กระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง ณ ปัจจุบันกำลังการผลิตจำนวนครึ่งหนึ่งได้ดำเนินการจ่ายไฟแล้วและมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากำลังการผลิตส่วนที่เหลือจะสามารถเปิดดำเนินงานในช่วงปี 2566-2567 ได้ตามกำหนดการ

ทริสเรทติ้ง คาดว่ากำลังการผลิตติดตั้งรวมตามสัดส่วนการลงทุนของโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้วของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,700 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้าจาก 4,966 เมกะวัตต์ ณ เดือนธันวาคม 2565 ซึ่งกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวน่าจะช่วยให้รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.15 แสนล้านบาทในปี 2568 จากประมาณ 1 แสนล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.1 หมื่นล้านบาทในปี 2568 จากประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 โดยอัตราส่วน EBITDA Margin (EBITDA ต่อรายได้) ของบริษัทน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30% ในช่วงประมาณการ ทั้งนี้ บริษัทจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมเพียงประมาณ 10% ของรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าซึ่งช่วยให้บริษัทได้รับผลกระทบในเชิงลบจากความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติในระดับที่จำกัด

ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจำนวน 4-6 พันล้านบาทต่อปีจาก บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (INTUCH) ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยได้รับเงินปันผลพิเศษประมาณ 2 พันล้านบาทในปี 2566 ซึ่งเงินปันผลจำนวนมากดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่กระแสเงินสดของบริษัท

รวมถึง ทริสเรทติ้งเชื่อว่าระดับการก่อหนี้ของบริษัทได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว โดยแม้บริษัทจะยังคงมีการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วแต่กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นก็น่าจะช่วยให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 7 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากระดับเกือบ 10 เท่าในปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่างบลงทุนรวมของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2-4 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568

สำหรับการลงทุนในโรงไฟฟ้าของกัลฟ์ฯ นั้น มีการกระจายความเสี่ยงที่ดีโดยบริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้าจำนวนมากกว่า 30 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงถือเป็นสินทรัพย์หลักของบริษัทโดยคิดเป็นสัดส่วน 93% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดหรืออยู่ที่ขนาด 8,057 เมกะวัตต์ ในขณะที่กำลังการผลิตส่วนที่เหลืออีก 565 เมกะวัตต์มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังลมหลายแห่งในประเทศเวียดนาม (229 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าพลังลม 1 แห่งในประเทศเยอรมนี (116 เมกะวัตต์) รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังลมและโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอีกหลายแห่งในประเทศไทย (221 เมกะวัตต์) บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 30% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2573 จากประมาณ 8% ในปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นบริษัทจะต้องมีกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีกประมาณ 5,000 เมกะวัตต์จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทเพิ่งซื้อหุ้นในสัดส่วน 50% ใน บริษัท กัลฟ์ กันกุล คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทและ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) ซึ่งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังลมขนาดกำลังการผลิต 178 เมกะวัตต์ในประเทศไทย

ตลอดจน การจัดอันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูงจากโรงไฟฟ้าของบริษัทอันเนื่องมาจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีกลไกในการส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิง ปัจจุบันบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 90% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนให้แก่ กฟผ. ภายใต้โครงการ SPP และ IPP โดยแต่ละสัญญาที่ทำกับ กฟผ. มีอายุ 25 ปีนับจากวันที่โรงไฟฟ้าเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์

ด้านความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ ทริสเรทติ้ง คาดว่า กัลฟ์ฯ จะยังคงขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนในต่างประเทศน่าจะคิดเป็นสัดส่วน 10%-20% ของการลงทุนทั้งหมดของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า แม้จะสร้างโอกาสในการเติบโตแต่การลงทุนในต่างประเทศก็มักมีความเสี่ยงที่สูงกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วอย่างประเทศเวียดนาม ความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดนั้นประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ การบังคับใช้สัญญา โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ และสถานะเครดิตของคู่สัญญาที่ซื้อขายไฟฟ้า ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งแห่งหนึ่งของบริษัทในประเทศเวียดนามได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ส่งผลให้มีเพียงประมาณ 4 เมกะวัตต์จากกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนรวมจำนวน 122 เมกะวัตต์ที่สามารถเปิดดำเนินงานได้ทันก่อนที่ราคาจำหน่ายไฟฟ้าแบบ FiT จะหมดอายุลงในเดือนพฤศจิกายน 2564 และทำให้กำลังการผลิตที่เหลืออีกจำนวน 118 เมกะวัตต์จำเป็นต้องรอ FiT ใหม่ซึ่งน่าจะประกาศใช้ภายในปี 2566 อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์โรงไฟฟ้ารวมของบริษัท โดยปัจจุบันเงินลงทุนในประเทศเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 3% ของเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท

นอกจากนี้ กัลฟ์ฯ ยังมีศักยภาพในการขยายธุรกิจไปสู่การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัลทั้งขยายกิจการไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership — PPP) กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยมี บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ดำเนินงาน ทั้งนี้ บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทและ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด โครงการซึ่งมีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาทนี้ประกอบด้วยงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (งานขุดลอกและถมทะเล) และงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว บริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนปีละประมาณ 1 พันล้านบาทจาก กนอ. เป็นเวลา 30 ปีหลังจากงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จซึ่งกำหนดไว้ในปี 2567

กัลฟ์ฯ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งมีกิจการร่วมค้าจีพีซี (GPC) เป็นผู้ดำเนินการอีกด้วย โครงการดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และกิจการร่วมค้า GPC ซึ่งประกอบด้วยบริษัท รวมทั้ง บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ China Harbour Engineering Co., Ltd. (CHEC) มีหน้าที่ในการออกแบบ ก่อสร้าง และดำเนินการในส่วนของท่าเรือ F1 และ F2 โครงการดังกล่าวนี้มีความเสี่ยงในด้านการตลาดเนื่องจากผลการดำเนินงานจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์ในการขนส่งสินค้า ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมทุนบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากกิจการร่วมค้าดังกล่าว ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะพยายามลดความเสี่ยงด้านอุปสงค์ลงให้มากที่สุดเมื่อพิจารณาจากนโยบายของบริษัทที่เน้นการลงทุนในโครงการที่สร้างผลกำไรคงที่และมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้

รวมถึง อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการมอเตอร์เวย์จำนวน 2 สาย (สาย M6 และ M81) โดยมีกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BGSR) ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ร่วมกับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ โครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.26 หมื่นล้านบาทเพื่อออกแบบและติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบจัดการจราจร และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ (ระยะที่ 1) รวมถึงดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (ระยะที่ 2) ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า BGSR จะไม่มีความเสี่ยงในด้านอุปสงค์ของปริมาณการจราจรเนื่องจากจะได้รับผลตอบแทนการลงทุนแบบคงที่หลังจากโครงการเปิดดำเนินงานในปี 2567 และบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากกิจการร่วมค้าดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 46.57% ใน INTUCH ยังเปิดทางไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล โดยการซื้อหุ้นใน INTUCH นั้นไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มรายได้จากเงินปันผลแต่ยังเปิดโอกาสให้บริษัทได้ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีอยู่ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC) และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (THCOM) อีกด้วย ซึ่งดิจิทัลแพลตฟอร์มดังกล่าวอาจช่วยสนับสนุนการขายไฟฟ้าในตลาดกลางหากภาครัฐมีการอนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้โดยตรงในอนาคต เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ทำการปรับโครงสร้างการถือหุ้นด้วยการซื้อหุ้นในสัดส่วน 41.1% ใน THCOM จาก INTUCH ที่มูลค่า 4.5 พันล้านบาท ในการนี้ บริษัทจะได้รับเงินปันผลพิเศษจำนวนประมาณ 2 พันล้านบาทจาก INTUCH ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนสุทธิลดลงเป็น 2.4 พันล้านบาท บริษัทได้รวมผลการดำเนินงานของ THCOM เข้ามาในงบการเงินของบริษัทตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 และได้ทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลืออยู่ทั้งหมดของ THCOM โดยทริสเรทติ้งคาดว่าจะไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดขายหุ้น THCOM ให้แก่บริษัทเมื่อพิจารณาจากราคาเสนอซื้อที่ค่อนข้างต่ำ

ตลอดจน ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ร่วมกับ Singapore Telecommunications Ltd. (SINGTEL) เพื่อร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) และร่วมกับกลุ่ม Binance (BINANCE) เพื่อร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย ความร่วมมือกันดังกล่าวน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมความเป็นไปได้ทางธุรกิจดังกล่าวไว้ในประมาณการในครั้งนี้

ขณะที่ สภาพคล่องจะยังคงบริหารจัดการได้ โดยณ เดือนกันยายน 2565 กัลฟ์ฯ มีวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมกันจำนวนประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัท คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่บริษัทต้องชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดรวมกันที่จำนวน 2.46 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ทริสเรทติ้งคาดว่า กัลฟ์ฯจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างเหมาะสม จากสมมติฐานกรณีพื้นฐานกำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าที่คิดตามสัดส่วนการลงทุนและเปิดดำเนินงานแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,700 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า รายได้จากการดำเนินงานรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.15 แสนล้านบาทในปี 2568 อัตราส่วน EBITDA Margin จะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30% ในช่วงปี 2566-2568 เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 2-4 หมื่นล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทที่เปิดดำเนินงานแล้วจะผลิตไฟฟ้าได้อย่างราบรื่นและสร้างกระแสเงินสดได้ตามแผน ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินงานได้ตามกำหนดการ อีกทั้งแผนการเติบโตของบริษัทจะไม่ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของกระแสเงินสดของบริษัทจากการเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer — IPP) ของบริษัท โดยกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดแรงกดดันจากภาระหนี้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นนั้นสะท้อนการด้อยสิทธิทางโครงสร้างในสิทธิเรียกร้องของหุ้นกู้เมื่อเทียบกับภาระเงินกู้ของบริษัทย่อยของบริษัท

อีกทั้ง เครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ตลอดจนการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ รวมถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูงจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ได้รับอันดับเครดิต “AAA/Stable”) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ลดทอนลงจากความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการลงทุนในต่างประเทศและการขยายธุรกิจที่รวดเร็วของบริษัท