“สุพัฒนพงษ์”ชี้ปตท.สผ.เข้าพื้นที่เอราวัณล่าช้าไม่กระทบใช้ก๊าซในไทย

ผู้ชมทั้งหมด 1,177 

“สุพัฒนพงษ์” ลั่นหากปตท.สผ.เข้าพื้นที่เอราวัณล่าช้าไม่กระทบต่อการใช้เชื้อเพลิงของประเทศ ยันมีคลัง LNG พร้อมนำเข้ามาใช้เพียงพอ ด้าน “พงศธร” แย้มเจรจากับเชฟร่อนมีสัญญาณที่ดีเล็งเข้าพื้นที่กลางปี 64 ขอติดตั้งก่อน 8 แท่น พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรื้อถอนแท่นผลิตที่รัฐรับโอนมาตามสัดส่วน  

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงาน ว่า กรณีที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ยื่นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในแหล่งปิโตรเลียม G1/61 เอราวัณที่จะส่งมอบให้กับรัฐบาลภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในปี 65 นั้นได้มอบหมายให้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ตั้งคณะทำงาน ทีมกฏหมายทั้งในและต่างประเทศ และทีมอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทยไว้สู้คดีแล้ว ก่อนหน้านั้นกระทรวงพลังงานก็ได้พยายามเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางเชฟรอนฯ มาตลอดเพื่อให้ได้ข้อยุติที่ดีที่สุด

ทั้งนี้หากการเจรจามีปัญหาไม่เป็นไปตามแผน หรือทำให้ขั้นตอนการเข้าพื้นที่ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP (ปตท.สผ.) มีความล่าช้านั้นยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้การใช้เชื้อเพลิงของประเทศไทย เนื่องจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีการดำเนินการลงทุนคลังแอลเอ็นจี หรือ LNG Receiving Terminal ไว้รองรับการนำเข้าเชื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อยู่แล้วที่มาบตาพุด ขนาด 11.5 ล้านตันต่อปี และอยู่ระหว่างการก่อสร้างแห่งที่ 2 อีก 7.5 ล้านตันต่อปีที่บ้านหนองแฟบ จ.ระยอง ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 65 ซึ่งจะรองรับนำเข้าLNG ได้ถึง 19 ล้านตันต่อปี

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า กรณีที่เชฟรอนยื่นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณนั้นเป็นเรื่องขั้นตอนการดำเนินการอย่างเป็นทางการตามขั้นตอนของเชฟรอน ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างเชฟรอนกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

ส่วน ปตท.สผ.ปัจจุบันก็ได้เจรจากับเชฟรอนต่อเนื่องอยู่แล้วไม่ได้มีปัญหาอะไร และมีสัญญาณในการเจรจาที่ดีขึ้น ซึ่งบริษัทฯมั่นใจว่าการเจรจาขอเข้าพื้นที่จะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ทั้งนี้ในเบื้องต้นทาง ปตท.สผ.ได้ขอเชฟรอนเข้าไปดำเนินการติดตั้งแท่นผลิตก่อน 8 แท่นกลางปี 64 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา

พร้อมกับการรับโอนแท่นผลิตจากกลุ่มเชฟรอนอีก 142 แท่น เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซฯได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามสัญญาที่ได้ดำเนินการกับรัฐบาล โดยบริษัทมีความมั่นใจว่าจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ ภายใต้สัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในเดือนเม.ย.65 ทั้งนี้ ปตท.สผ.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรื้อถอนแท่นผลิตที่รัฐรับโอนมาตามสัดส่วนเฉพาะที่ใช้ประโยชน์ ซึ่งยังไม่ได้มีการคำนวณตัวเลขที่ชัดเจนออกมา

อย่างไรก็ตามการจะเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตดังกล่าวทางบริษัทก็จะต้องขออนุญาตจากทางเชฟรอน และจะต้องมีการเซ็นสัญญาข้อตกลงการเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement) ระยะที่ 2 ซึ่งน่าจะจบได้ในเร็ววันนี้ จากปัจจุบันที่ได้มีข้อตกลงในระยะแรก และทำให้บริษัทสามารถเข้าไปจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ในขณะนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แท่นผลิตในแหล่งเอราวัณมีทั้งหมด 191 แท่น ซึ่งรัฐจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ 142 แท่นทำให้เชฟรอนฯต้องรื้อถอน 49 แท่น แต่ได้นำไปใช้ทำปะการังเทียม 7 แท่น ดังนั้น คงเหลือรื้อถอน 42 แท่น ซึ่งเชฟรอนพร้อมที่จะดำเนินการรื้อถอน แต่ขณะเดียวกันรัฐยังระบุว่าเชฟรอนจะต้องวางเงินหลักประกันค่ารื้อถอนในอนาคตสำหรับ 142 แท่นที่รัฐจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ด้วยการโอนให้กับ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัญญา PSC แหล่งเอราวัณรายใหม่ โดยในส่วนนี้เชฟรอนต้องจ่ายวงเงินรื้อถอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อแท่น หรือไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เกิดกรณีข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นมา