SCG ลั่น พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าวิกฤต “รัสเซีย-ยูเครน”

ผู้ชมทั้งหมด 999 

SCG มั่นใจขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าวิกฤต “รัสเซีย-ยูเครน” ได้ เตรียมทบทวนแผนลงทุนปี65 ลุยต่อปิโตรคอมเพล็กซ์เวียดนามเดินเครื่องผลิตตามแผน พร้อมคงเป้ายอดขายปีนี้โต 10% พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นราคาสินค้า กรณีอั้นต้นทุนวัตถุดิบไม่อยู่ แนะภาคธุรกิจ ปิดความเสี่ยง บริหารจัดการหนี้ ต้นทุนการเงิน เพิ่มความยืดหยุ่นรับมือผลกระทบ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดเผยแผนการขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2565 และกลยุทธ์ปรับตัวบนความท้าทายของวิกฤตโลก โดยระบุว่า SCG เตรียมทบทวนแผนการลงทุนในปี 2565 ให้อยู่กรอบที่กำหนดไว้ 80,000 ล้านบาท ซึ่งกว่า 50% ของงบลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนใน โครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP 1) ประเทศเวียดนาม ที่ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วราว 90% โดยจะต้องเดินหน้าการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผน รวมถึงเดินหน้าต่อในส่วนของโครงการที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน หรือ รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) ที่จะเป็นการเพิ่มการเติบโตให้กับบริษัทในทันที แต่ในส่วนของโครงการลงทุนใหม่  หรือโครงการลงทุนเองทั้งหมด (Green Field) ก็อาจจะต้องทบทวนความเหมาะสมอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน บริษัท ยังคงเป้ายอดขายรวมปี 2565 ที่คาดว่าจะเติบโต10% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียอดขาย 530,112 ล้านบาท แม้ว่าธุรกิจของบริษัทจะได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนจนส่งให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจเคมีภัณฑ์ มีต้นทุนพลังงาน ถึง 70-80% ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง มีต้นทุนพลังงาน อยู่ที่ 15-20% และธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีต้นทุนพลังงานอยู่ที่ 5% แต่ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นนั้น บริษัทคิดว่ามีผลกระทบไม่มากนัก เพราะเมื่อต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น ก็สามารถปรับราคาสินค้าได้ ฉะนั้นในส่วนของยอดขายคงกระทบไม่มาก แต่ในส่วนของกำไรจะได้รับผลกระทบโดยตรงแต่จะมากหรือน้อยนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะยังต้องติดตามสถานการณ์ในระยะต่อไปและตอนนี้ยังไม่เห็นทางออกของความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม การจะปรับขึ้นราคาสินค้านั้น ยังต้องดูผลกระทบใน 2 ด้าน คือ ด้านต้นทุนวัตถุดิบ ส่วนนี้บริษัทคงไม่สามารถยืนต้นทุนได้นาน ซึ่งอาจต้องปรับตามกลไกตลาด แต่ด้านต้นทุนพลังงาน บริษัทจะพยายามชะลอการปรับขึ้นให้นานที่สุด เพื่อให้มีผลกระทบต่อซัพพลายเชนและผู้บริโภคน้อยที่สุด และหากจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นจริงก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2565 นั้น มองว่า ธุรกิจอยู่ได้ด้วยกนะแสเงินสด การก่อหนี้ต้องไม่สูง และต้องมีแผนบริหารจัดการต้นทุนการเงินให้ชัดเจน ซึ่งหากธุรกิจใดที่ประเมินว่าจะเข้าข่ายได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ จะต้องดูเรื่อง การก่อหนี้ ต้นทุนการเงิน เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญ รวมถึงต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คำนึงถึงเรื่อง ราคา ต้นทุน การใช้กำลังการผลิต เพื่อทำตัวให้เบาเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ

“คิดว่า มองด้านหนึ่ง สิ่งที่เจอมา 2-3 ปีนี้ ไม่เคยเจอมาก่อน ทั้ง โควิด-19 ,เงินเฟ้อ สูงในรอบกว่าหลายสิบปี และความขัดแย้ง รัสเซียกับยูเครน ที่กระทบต่อราคาพลังงานสูงขึ้นมาก ก็เป็นเรื่องที่มีความใหม่ ความไม่แน่นอนสูง แต่คิดว่า สิ่งที่ทำให้เราทุกคนยืนได้ คือ ความตั้งใจฝ่าฟันดูเรื่องความเสี่ยงและพยายามปิดความเสี่ยงให้มาก ขณะเดียวกันรู้จัดปรับองค์กร เพิ่มความคล่องตัว ซึ่งจะเห็นว่าคนที่ปรับตัวได้ก็จะอยู่รอดได้”

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า บริษัท มั่นใจว่าจะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนไปได้ โดยมองว่า สถานการณ์จะมีจุด “จบ” แต่จะช้าหรือเร็ว ยังไม่สามารถประเมินได้ โดยมองว่า ความขัดแย่งดังกล่าว หากเทียบผลกระทบกับการระบาดของโควิด-19 ที่เผชิญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีผลกระทบน้อยกว่า และบริษัทมีประสบการณ์ในการรับมือหรือเตรียมพร้อมปรับแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจให้รองรับต่อวิกฤตมาตั้งแต่เกิดโควิด-19 แล้ว

ซึ่งขณะนั้น ยังมองไม่เห็นทางออกของในการแก้ไขปัญหาโรคระบาด จนกระทั่งเริ่มมีวัคซีนเข้ามา แต่เหตุขัดแย้ง  “รัสเซียกับยูเครน” จะเห็นผลกระทบใน  4 ส่วน คือ 1.สถานการณ์ในยูเครน 2.การคว่ำบาตรรัสเซียของประเทศในกลุ่มอียู สหรัฐ และประเทศอื่นๆ 3.ต้นทุนพลังงาน ที่เพิ่มขึ้น เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน เบอร์ 2 ของโลก และผู้ส่งออกก๊าซฯ รายใหญ่ ส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา และ4.ผลกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจ เช่น การจับจ่ายใช้สอยในอียู สหรัฐ ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ท้าทายภาคธุรกิจระลอกใหม่ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังมีอยู่ และหลายธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา แต่ภาคธุรกิจก็ต้องฟันฝ่าไปให้ได้

“ก็ประเมินว่า ไม่น่ารุนแรง เหมือนกับกรณีของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะ ความขัดแย้ง รัสเซียกับยูเครน สุดท้ายต้องมีจุด จบ หลังหลายประเทศพยายามที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา”