กกพ. ชงกบง.พรุ่งนี้!! เคาะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานน้ำตาลกว่า 200 MW

ผู้ชมทั้งหมด 946 

กกพ. ชงกบง.พรุ่งนี้!! เคาะรับซื้อไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลจากโรงงานน้ำตาล กว่า 200 เมกะ เตรียมพร้อมรับมือแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซฯ ต่ำกว่าแผน หวั่นไม่พอป้อนโรงไฟฟ้า ให้ราคาค่าไฟฟ้าเกือบ 2 บาทต่อหน่วย ด้าน KSL ไม่สนใจ ชี้ค่าไฟต่ำไปไม่คุ้มค่ากับต้นทุนวัตถุดิบ

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมไฟฟ้าเปิดเผยว่า ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเสนอให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาแผนรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลส่วนเพิ่มของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ขนาดกำลังการผลิตรวมประมาณ 200 กว่าเมกะวัตต์  โดยให้อัตราราคารับซื้อไฟฟ้าที่ประมาณ 1.6-1.9  บาทต่อหน่วย จากเดิมคาดการณ์ว่าจะรับซื้อราว 400 เมกะวัตต์

ทั้งนี้แผนรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลส่วนเพิ่มนั้นเพื่อลดผลกระทบจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณที่หายไป เนื่องจากการเปลี่ยนถ่ายการบริหารจัดการแหล่งเอราวัณล่าช้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่กำหนดปริมาณการผลิตก๊าซขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลให้เชื้อเพลิงก๊าซฯบางส่วนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศหายไป และยังเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

แหล่งข่าวกล่าวว่า มาตรการรับซื้อไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลส่วนเพิ่มนั้นผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลจะได้เปรียบโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วไป เนื่องจากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหลือจากการผลิตใช้เองอยู่แล้วโดยไม่ต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับระบบสายส่งได้ทันที แต่ก็ต้องไปเช็คกับระบบสายส่งก่อนว่าเต็มหรือไม่อย่างไร ส่วนอัตราราคารับซื้อไฟฟ้าในระดับประมาณ 1.6-1.9  บาทต่อหน่วยนั้นไม่ได้นำต้นทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและค่าดำเนินการ และบำรุงรักษา (O&M) มาคำนวณ โดยจะคิดเฉพาะอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนแปรผัน (FiT variable : FiTV) หรือคิดจากต้นทุนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล และมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองในโรงงาน กล่าวว่า หากกระทรวงพลังงาน โดยกบง. จะอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากเชื้อเพลิงชีวมวลแล้วให้อัตราค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 2 บาทต่อหน่วยนั้นเป็นราคาที่ไม่น่าสนใจ เนื่องจากราคาต่ำเกินไปไม่มีความคุ้มค่ากับต้นทุนวัตถุดิบ

“อัตราราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำกว่า 2 บาทไม่มีใครสนใจที่จะขายให้กับรัฐหรอก ขนาดราคา 2.20 ผมยังไม่สนใจเลย ผมทำธุรกิจไม่ได้ทำบุญ ขนาดราคา 2 บาทยังไม่คุ้มค่ากับต้นทุนวัตถุดิบเลย ถ้าจะขายไฟฟ้าให้กับรัฐ 2 บาท ผมประกาศขายให้กับเอกชนยังง่ายกว่ามีคนสนใจรับซื้อเยอะแยะไม่ต้องขายในรัฐหรอก”