กกพ. หวัง ชิปเปอร์รายใหม่ นำเข้าLNG ช่วงไตรมาส 2 ช่วยเกลี่ยต้นทุนค่าไฟ

ผู้ชมทั้งหมด 711 

กกพ.ยันยึดเกณฑ์ราคา LNG Benchmark จัดสรรโควตานำเข้าก๊าซฯ ให้ “ชิปเปอร์รายใหม่” พร้อมลุ้ม กลุ่ม Regulated Market ยื่นเสนอแผนนำเข้าหลัง เม.ย.นี้ ช่วยเกลี่ยต้นทุนค่าไฟของประเทศ หลังซุ่มเจรจาจัดซื้อก๊าซฯตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ 4 เดือนแรกปี65 ปตท.นำเข้ารายเดียวเกือบ 1.5 ล้านตัน เหลือโควตาอีก 3 ล้านตันปีนี้  

แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า หลังจาก กกพ.ได้พิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตจัดหาและนำเข้าก๊าซ (LNG Shipper) ให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจากการติดตามข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผู้นำเข้าก๊าซฯ กลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. หรือ Regulated Market ที่ปัจจุบัน มีผู้ได้รับใบอนุญาต Shipper คือ ปตท. ,กฟผ., กัลฟ์, และหินกอง นั้น

ขณะนี้ แต่ละรายได้เริ่มกระบวนการเจรจาจัดซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ตั้งแต่ต้นปีแล้ว ซึ่งจะเป็นลักษณะของสัญญาระยะยาว ที่โดยปกติแล้วจะได้ราคาดีกว่าการจัดซื้อในลักษณะของตลาดจร(Spot) ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ หากมีการนำเข้าก๊าซฯมาถัวเฉลี่ยต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ก้ต้องติดตามดูว่า แต่ละรายที่ได้ติดต่อเจรจาจัดซื้อ LNG ไว้จะได้เงื่อนไขที่ดีอย่างไร  

โดยการนำเข้าก๊าซฯของ กลุ่ม Regulated Market ไม่ใช่ว่า ได้รับใบอนุญาตฯแล้ว จะนำเข้ามาได้ทันที แต่จะต้องอยู่ภายใต้ หลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) ตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กพช.)เมื่อ 6 ม.ค.2565 ได้เห็นชอบใน 3 รูปแบบ คือ 1. สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาน้ำมัน (Oil linked linear formula) 2. สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ (Gas linked linear formula) และ 3. สมการในรูปแบบ Hybrid ซึ่งอ้างอิงทั้งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และมีจุดหักมุม (Hybrid oil gas linked formula with a kink point)

“หลักการนำเข้าLNG ของ Shipper คือต้องดูว่า จะเกิดภาระTake or Pay หรือไม่ ซึ่งทุกรายจะนำเข้าพร้อมกันหมดไม่ได้ ก็ต้องดูว่ารายไหนนำเข้าก๊าซฯมาแล้วจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ก็ต้องเทียบราคาตามเกณฑ์ LNG Benchmark ซึ่ง Shipper รายใหม่ น่าจะเริ่มนำเข้าได้หลังเดือน เม.ย.นี้ เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม การนำเข้า LNG ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-เม.ย.65) กกพ. ได้อนุมัติให้ ปตท.เป็นผู้นำเข้า LNG เพียงรายเดียว เนื่องจากสถานการณ์ราคา LNG ตลาดโลกยังผันผวนในระดับสูง ขณะที่ปริมาณการผลิตก๊าซฯจากแหล่งในประเทศลดลง ทำให้ Shipper รายใหม่ มีเวลาเตรียมพร้อมน้อย จึงมอบหมายให้ ปตท.ซึ่งเป็น Shipper รายแรกของประเทศที่มีประสบการณ์จัดหาและนำเข้าก๊าซฯ เป็นผู้ดำเนินการไปก่อน ซึ่งเบื้องต้น คาดว่า ปตท.ได้นำเข้า LNG ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณไม่เกือบ 1.5 ล้านตัน จากทั้งปีนี้ ภาครัฐกำหนดกรอบการนำเข้า LNG อยู่ที่ 4.5 ล้านตัน ดังนั้น ยังเหลือโควตานำเข้า LNG อีกประมาณ 3 ล้านตัน หรือ อาจจะมากกว่าแผนที่รัฐประเมินไว้ หากแหล่งเอราวัณ ผลิตก๊าซฯได้ต่ำกว่า 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า เบื้องต้น ได้รับการรายงานว่า ปัจจุบัน มี Shipper รายใหม่ จำนวน 2 ราย คือ กลุ่ม บี.กริม, และ กฟผ. ได้ดำเนินการจอง LNG Terminal กับ ปตท.แล้ว แต่จะยื่ยแผนนำเข้าช่วงใดนั้น ยังต้องลุ้นหลังเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งในส่วนของ บี.กริม เป็นผู้นำเข้าก๊าซฯ กลุ่มที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง (Partially Regulated Market) ซึ่งเป็นการนำเข้าเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของตนเอง ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบ หากนำเข้ามา ก็จะมาช่วยตัดโควตานำเข้า LNG ของประเทศ ก็ถือว่าเป็นผลดี เพราะไม่ได้นำต้นทุนในส่วนนี้มาถัวเฉลี่ยในการคำนวนค่าไฟฟ้าของประเทศ แต่ในส่วนของ กฟผ. หากจะนำเข้า LNG ก็จะต้องอยู่บนเกณฑ์ LNG Benchmark ที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กกพ. ได้ออกใบอนุญาตจัดหาและนำส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ให้กับผู้ประกอบการรวม 8 ราย ได้ แก่ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตรายแรกของประเทศ และอีก 7 รายใหม่ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.),บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน),บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด,บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด,บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป, บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG