กกพ.เร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์รองรับ Energy Transition

ผู้ชมทั้งหมด 663 

กกพ.กาง 3 แผนงานเร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์รองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ดัน ERC Sandbox ระยะที่ 2 หนุนใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้า เตรียมกำหนดอัตรา Green Tariff ส่งเสริมพลังงานสะอาด พร้อมปรับระเบียบเอื้อผลิตไฟฟ้าใช้เอง

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “ทิศทางและยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงานของประเทศ” ในงานเสวนาบทบาทและกลไกสนับสนุนงบประมาณของกองทุนส่งเสริม ววน. ร่วมกับ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าต่อการพัฒนาเพื่อส่งเสริมกิจการพลังงานของประเทศ โดยระบุว่า ปัจจุบัน การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย อยู่ในช่วง การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน(Energy Transition) จากเดิมที่เคยผลิตไฟฟ้าจากหน่วยขนาดใหญ่ เป็นการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งขนาดเล็กๆ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และราคาพลังงานที่ปรับขึ้น-ลงอย่างรวดเร็วทำให้ระบบโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าจะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับทิศทางของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้าในอนาคต

โดยเฉพาะในปี 2565 จะเห็นชัดเจนว่าการใช้ไฟฟ้าถูกกระทบจากหลายปัจจัยทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้หลายประเทศ ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานเกิดความผัวผวนในทิศทางขาขึ้น ดังนั้น อนาคตจำเป็นต้องปรับการบริหารจัดการโครงสร้างระบบการผลิตไฟฟ้าให้เกิดความมั่นคงในระยะยาว และรองรับการใช้พลังงานในอนาคต (Future Energy) ที่จะเกิดขึ้นใน 2 รูปแบบ คือ พลังงานหลัก ที่คาดว่า ก๊าซธรรมชาติ จะเป็นคำตอบ และพลังงานในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน ระบบจัดเก็บพลังงาน(ESS) โซลาร์เซลล์ และยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เป็นต้น รวมถึงจะต้องมีเทคโนโลยีที่เข้ามาทำหน้าที่เชื่อมต่อและบริหารจัดการการใช้พลังงานต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เรื่องของสมาร์ทกริด บล็อกเชน และการเกิดขึ้นของรูปแบบธุรกิจใหม่ เป็นต้น

ดังนั้น รับมือกับทิศทางการใช้พลังงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต กกพ.ได้เตรียมปรับปรุงกฎเกณฑ์รองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน(Energy Transition) ได้แก่

1.สนับสนุนนวัตกรรมพลังงาน(Energy Innovation) เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมภายใต้โครงการ ERC Sandbox ซึ่งได้ดำเนินโครงการระยะที่ 1 ไปแล้ว 32 โครงการ และปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินโครงการระยะที่ 2 เพื่อทดสอบการใช้พลังงานหมุนเวียน ในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้สามารถรักษาการแข่งขันในเวทีโลกได้

2.กำหนดอัตราไฟฟ้าสีเขียว(Green Tariff) เพื่ออำนวยความสะดวกภาคอุตสาหกรรมและผู้ประสงค์จะใช้พลังงานสีเขียว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาอัตราที่เหมาะสม โดยยอมรับว่า ต้นทุนอาจจะแพงกว่าอัตราไฟฟ้าทั่วไป แต่จะตอบโจทย์ความต้องการใช้พลังงานสะอาด

3.ปรับปรุงกฎระเบียบประเภทใบอนุญาต เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เอง(หลังมิเตอร์) รวมทั้งการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่แผนยุทธศาสตร์(แผนปฏิบัติการ)การกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี(2566-2570) ที่จะตอบโจทย์เรื่องของ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน(Energy Transition),เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) และเรื่องของ Digital Technology

ทั้งนี้ วันนี้(18 ก.ค.2565) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) การดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทุนวิจัยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมายและแผนงานในการใช้งบประมาณจากทั้ง 2 กองทุน คือ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาตรา 97(4) และกองทุนส่งเสริม ววน. ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการวิจัยฯและนวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการใช้ทรัพยากรลง