กกพ.แย้ม ภาคอุตฯ ยังมีลุ้นลดค่าไฟงวดแรกปี66 

ผู้ชมทั้งหมด 731 

กกพ.เผย กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ(ที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย) ยังมีลุ้นปรับลดอัตราค่าไฟฟ้า ลงจาก 5.69 บาทต่อหน่วย ในรอบบิลค่าไฟฟ้า ม.ค. – เม.ย. 66 หากมีหนังสือแจ้งยืนยันการคำนวนประมาณการณ์ราคาก๊าซ ของ ปตท.และทบทวนแผนบริหารจัดการหนี้ของ กฟผ.ใหม่ ส่งมาภายในสิ้นเดือนธ.ค.นี้ ขณะที่กลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ยังต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐในการจัดสรรงบประมาณและเงินจาก ปตท. 6,000 ล้านบาท เข้ามาดูแลหรือไม่ 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กรณีที่เอกชนต้องการให้ปรับลดค่าไฟลงมา จากมติ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 58/2565 (ครั้งที่ 825) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 พิจารณาผลการคำนวณค่า Ft ที่ กฟผ. เสนอตามแนวทางที่ กพช. เห็นชอบ ประจำงวดเดือน มกราคม – เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งการคำนวณค่า Ft ตามแนวทางดังกล่าวนี้ ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับเท่าเดิมที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วยนั้น 

เบื้องต้น มีความเป็นไปได้ที่ค่าไฟฟ้า ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น(ที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย) อาจปรับลดลงได้ หากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) จัดทำหนังสือยืนยันเปลี่ยนแปลงตัวเลขการทบทวนแผนบริหารหนี้กฟผ.และการคำนวณประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติของผู้ผลิตไฟจากภาคเอกชนใหม่ ซึ่งหากส่งมายังกกพ.ภายในสิ้นเดือนธ.ค.นี้ ก็จะทันต่อการปรับค่าไฟงวดม.ค.-เม.ย.66

โดยจากการคำนวน ค่าFt งวดม.ค.-เม.ย.66 ได้นำภาระการเงินและหนี้สินสะสมของกฟผ.มาคำนวณอยู่ที่เฉลี่ย 0.33 บาทต่อหน่วยหรือคิดเป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาทต่องวดจากยอดหนี้ทั้งหมด ณ เดือนส.ค. 66 ที่ 1.2 แสนล้านบาทโดยทยอยจ่ายคืนภายใน 2 ปีซึ่งเอกชนได้เสนอให้ชะลอการชำระคืนหนี้กฟผ.ดังกล่าวออกไปก่อนดังนั้นหากรัฐบาลมีแนวทางช่วยเหลือกฟผ.ให้เลื่อนการนำภาระหนี้มาคำนวณค่าไฟในงวดดังกล่าวได้ก็จะส่งผลให้ค่าFt อย่างน้อยลดลง 0.33 บาทต่อหน่วยได้

เหตุที่ ภาคเอกชนต้องจากค่าไฟ งวดแรกปี66 แพงกว่าบ้านอยู่อาศัย นั้น กกพ.ขอชี้แจงว่า เป็นการดำเนินการตามมติกพช.ที่ให้จัดสรรก๊าซจากอ่าวไทยหหลังโรงแยกก๊าซเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเป็นลำดับแรกโดยไม่เพิ่มค่าไฟจากเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย”

ส่วนแนวทางช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง หรือ ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือนนั้น ยังคงต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะจัดสรรงบประมาณเข้ามาดูแลเพิ่มเติมอย่างไร รวมถึงหลังจากที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เมื่อ25 พ.ย.65 ขอความร่วมมือจาก ปตท.ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ 1,500 ล้านบาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 4 เดือน(ม.ค.-เม.ย.66) หรือวงเงินรวม 6,000 ล้านบาทนั้น ต้องรอดูว่าปตท.จะอนุมัติจัดสรรงบดังกล่าวเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่

ทั้งนี้ เบื้องต้นหากจะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ตามแนวทางเดิมที่เคยช่วยเหลือส่วนลดค่าไฟเป็นแบบขั้นบันได กกพ.ประมาณการณ์ว่า จะต้องใช้เงินในงวดม.ค.-เม.ย.65 ประมาณ 8,700 ล้านบาท ซึ่งอาจต้องรองบประมาณจากรัฐอีก 1,700 ล้านบาทเข้ามาเสริม โดยหากการช่วยเหลือส่วนนี้มีความชัดเจนภายในธ.ค.นี้ก็จะปรับลดค่าไฟส่วนนี้ได้ทันที