กกพ. ให้จับตา! วันนี้ เคาะลดค่าไฟฟ้า เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย

ผู้ชมทั้งหมด 12,670 

กกพ. ให้จับตา! วันนี้ เคาะลดค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย ชี้อากาศร้อน ค่าไฟพุ่ง กฟผ. ยอมขยายกรอบระยะเวลาแบกรับภาระหนี้ 1.5 แสนล้าน อุดหนุนค่าไฟเป็น 2 ปี 4 เดือน ด้านก.พลังงานสั่งปตท. เร่งนำเข้า LNG ช่วงราคาถูกลงมาสำรองไว้ หวังช่วยลดต้นทุนผลิตไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค.66

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที ) ในวันศุกร์ที่ 21 เมษายนนี้ จะพิจารณาเรื่องการปรับลดค่าไฟฟ้างวดใหม่ เดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 หลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อนจาก 2 ปี เป็น 2ปี 4 เดือน ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. ลดลงจาก 4.77 บาทต่อหน่วย เป็น 4.70 บาทต่อหน่วย  อย่างไรก็ตามสำหรับคณะอนุกรรมการฯ ที่พิจารณาค่าเอฟที นั้นมีตัวแทนจากกระทรวงการคลังที่ดูแลเรื่องวินัยการเงินการคลังและหนี้สินร่วมอยู่ด้วย หากได้รับความเห็นชอบก็จะประกาศลดค่าไฟฟ้าต่อไป

อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นต้องยอมรับว่ากว่า 90% เกิดจากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยประสบปัญหาการผลิตลดลงหลังจากมีการเปลี่ยนผู้ผลิต จึงต้องนำเข้า LNG มาชดเชยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่วนอีกประมาณ 10% ต้องยอมรับว่ามาจากสาเหตุของปริมาณการสำรองไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติที่ต้องมีปริมาณสำรองเพียง 15% เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามปริมาณการสำรองไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับ 27-29% ก็ถือว่าเกินมาไม่มากตามที่เป็นข่าว ซึ่งการคำนวณคิดค่าไฟฟ้าสำรองต้องนับแค่โรงไฟฟ้าหลักอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และไฟฟ้าที่รับซื้อจากสปป.ลาว มาคำนวณ 

นายคมกฤช กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหนังสือที่ กฟผ. ยืนยันจะยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าที่รับภาระแทนประชาชนนั้นระบุว่าจะสามารถจัดการด้านสภาพคล่องในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ได้ แต่สำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 อาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องไม่สามารถที่จะยืดหนี้ได้อีก ระบบหรือประชาชนก็จะต้องคืนหนี้แก่ กฟผ. โดยหนี้วงเงินเต็มนั้นอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และมีการคืนหนี้ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ไปแล้ว วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ทำหนังสือ ยืนยันไปยัง กกพ. และเชื่อว่า กกพ.จะเห็นชอบปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 นอกจากนี้ทางกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้มีการพิจารณาว่าจะมีส่วนใดมาช่วยเหลือเพิ่มเติมได้หรือไม่ นอกเหนือจากการยืดหนี้ของ กฟผ. อย่างไรก็ตามจากการหารือกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่คาดว่าจะใช้งบราว 8,000 ล้านบาท

ส่วนค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ได้มีมาตรการช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแล้ว โดยในเบื้องต้นได้มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เร่งนำเข้า LNG ซึ่งในปัจจุบันราคาปรับลดลงแล้วอยู่ที่ 11-13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูมาสำรองไว้ได้หรือไม่ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่จะช่วยให้ค่าเอฟทีในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ลดลง ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 ที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นสาเหตุหลักๆ มาจากราคา LNG อยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 47 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

ขณะที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยลดลงเพราะมีการผลิตและนำมาใช้นานถึงกว่า 40 ปีแล้ว ประกอบกับช่วงการเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซเอราวัณจากผู้ผลิตรายเก่ามาเป็นรายใหม่ผลิตได้ต่ำกว่าแผนงาน ต้องนำเข้า LNG มาผลิตไฟฟ้าทดแทน นอกจากนี้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นก็เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจากผลกระทบด้านราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นกระทรวงพลังงานก็ได้วางแนวทางลดภาระทุกด้าน แต่สุดท้ายราคาก็ต้องสะท้อนตลาดโลกด้วย ซึ่งก็ต้องขอความร่วมมือทุกฝ่ายประหยัดพลังงานเพื่อลดภาระรายจ่ายให้ต่ำที่สุด

“ต้องยอมรับว่าปีนี้อากาศร้อนมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนเปิดแอร์คลายร้อนกันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทมอ ส่งผลเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ต่อเนื่อง โดยล่าสุดความต้องการใช้ไฟฟ้าพีกสูงสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 เวลา 20.44 น. ที่ 32,212.5 เมกะวัตต์ ซึ่งค่าไฟฟ้าเมืองไทยเป็นอัตราก้าวหน้ายิ่งใช้หน่วยจำนวนมากก็ยิ่งจ่ายแพง” นายกุลิศ กล่าว