กทท.ไล่บี้ CNNC เร่งถมทะเลสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 คืบหน้าแค่ 13.26%

ผู้ชมทั้งหมด 464 

กทท.เร่งผู้รับเหมา CNNC ถมทะเลสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 หลังมีความคืบหน้าแค่ 13.26% ด้านผู้รับเหมามั่นใจส่งมอบงานถมทะเลพื้นที่ F1 ให้ GPC ทัน 7 มิ.ย. 67 ส่วนการถมทะเลทั้งหมดต้องส่งมอบ 29 มิ.ย. 69 ชี้ล่าช้าโดนค่าปรับกว่า 600 ล้านบาท

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยในงานแถลงความคืบหน้าแผนการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 (เฟส3) ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินงานงานก่อสร้างทางทะเล โดย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ตามแผนการทำงาน ต้องทำงานให้ได้ 15.13% แต่กิจการร่วมค้าฯ สามารถทำงานส่งมอบให้โครงการฯ ได้แล้วที่ 13.26% มีความล่าช้าจากแผนการทำงาน 1.87% โดยงานในส่วนนี้กิจการร่วมค้า CNNC ประกอบด้วยบริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) เป็นผู้รับเหมา

สำหรับความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องมาจากผู้รับเหมาเริ่มดำเนินโครงการในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ส่งผลให้การก่อสร้างของโครงการฯ ประสบปัญหาการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ วิศวกรผู้ชำนาญการ รวมถึงแรงงาน ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เป็นผลให้การก่อสร้างไม่สามารถเป็นไปตามแผนการทำงานเดิมและเกิดความล่าช้า

ทั้งนี้หลังจากสถานการณ์โควิด – 19 คลี่คลายหน่วยงานภาครัฐได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ ตามมาตรการกรมบัญชีกลาง โดยกำหนดแนวทางในทางปฏิบัติต่างๆ อาทิเช่น การแก้ไขสัญญาและแนวทางการปรับแผนการทำงานใหม่ ฯลฯ ซึ่ง กทท. ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาตามมาตรการภาครัฐข้างต้น และได้มีการปรับแก้แผนการทำงานใหม่ โดยแผนการทำงานใหม่มีผลเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 กิจการร่วมค้า CNNC ดำเนินงานก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่ถมทะเลส่วนที่ 1 และพื้นที่ถมทะเลส่วนที่ 2 เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 และวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตามลำดับ

ส่วนพื้นที่ถมทะเลส่วนที่ 3 ผู้รับเหมามั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ตามกำหนด และมั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบงานในส่วนที่ 1 คือ งานก่อสร้างงานทางทะเล ได้ภายในวันที่ 29 มิถุนายน 2569 มูลค่าโครงการรวม 21,320 ล้านบาท โดยจะส่งมอบพื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญา บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด GPC ได้ภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2568 ตามสัญญาเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการท่าเทียบเรือท่าแรก (ท่าเทียบเรือ F1) ในโครงการฯ ภายในปี 2570

นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเสนอปรับปรุงคุณภาพ​งานถมทะเล ด้วยวิธีการ Pre-Loading และมีค่าใช้จ่ายประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อกำหนดทางเทคนิคของการถมทะเล กำหนดให้ค่าความหนาแน่นสัมพันธ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 เป็นการกำหนดค่าทรุดตัวที่ยอมให้ไม่เกิน 20 เซนติเมตร​ตลอดระยะเวลา 30 ปี ล่าสุดคณะกรรมการบริหารสัญญาเห็นชอบวิธีการปรับปรุงคุณภาพดินให้ดูเรื่องของค่าการทรุดตัวที่ยอมรับได้ ส่วนค่าใช้จ่าย 600 ล้านบาทขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือกับ GPC ว่าในส่วนนี้ผู้ใดจะต้องรับผิดชอบ

นางสาวลัลลิฬา จิตร์สม ผู้อำนวยการโครงการร่วมโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลกิจการร่วมค้า CNNC กล่าวว่า การดำเนินก่อสร้างทางทะเลทั้ง 3 ส่วนที่มีความล่าช้านั้นทาง CNNC โดนค่าปรับไปแล้วกว่า 600 ล้านบาท เบื้องต้นผู้รับเหมาได้ขอใช้สิทธิ์ตามมาตรการของรัฐในช่วงเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.พิจารณาเห็นชอบ

อย่างไรหากการยื่นหนังสือครั้งนี้ไม่ได้รับการอนุมัติให้ยกเว้นการจ่ายค่าปรับจะทำให้ผู้รับเหมาถูกจ่ายค่าปรับเพิ่มขึ้นตามที่กำหนด ทั้งนี้บริษัทยืนยันไม่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินแต่อย่างใด ขณะนี้ผู้รับเหมามีบริษัทพาร์ทเนอร์ที่ระดมเงินทุนสามารถนำมาช่วยเสริมสภาพคล่องได้

นางสาวลัลลิฬา กล่าวว่า ส่วนงานที่ล่าช้านั้น CNNC มีแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อเร่งรัดงานก่อสร้างให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนเครื่องจักรอุปกรณ์ เดิมโครงการฯ มีเครื่องจักรทางน้ำในโครงการฯ รวมทั้งหมด 39 ลำ ประกอบด้วยเรือขุดหัวสว่าง เรือขุด Grab และเรือบริวาร เรือใช้เรียงหิน เรือที่ใช้ในการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ทั้งนี้มีแผนการนำเครื่องจักรอุปกรณ์เข้ามาขั้นต่ำอีก 25 ลำ ปัจจุบันนำเข้ามาแล้ว 17 ลำ และกิจการร่วมค้าฯ จากประเมินสถานการณ์หากยังไม่เพียงพอ จะนำเข้าเพิ่มเติมอีก

นอกจากนี้จะนำเครื่องจักรเข้ามาเพิ่มเติมนั้น จะสามารถช่วยเพิ่มปริมาณในการขุดลอกโดยจากเดิมเดือนละ 1.4 ล้านลูกบาศเมตร เป็น 2.0 ล้านลูกบาศเมตร รวมทั้งขีดความสามารถในการเรียงหิน จะเพิ่มจากเดิมวันละ 5,000 ลูกบาศเมตร เป็น 14,000 ลูกบาศเมตรต่อวัน นอกจากนี้จะมีการเพิ่มอุปกรณ์ทางบกสำหรับการขนส่งหินเพื่อใช้ในการก่อสร้างคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเล การปรับระดับและบดอัดพื้นที่ถมทะเล และงาน Preloading เช่น รถบรรทุกดัมพ์ รถขุด และเครื่องแทรก PVD รวม 50 ชุด

การเพิ่มจำนวนผู้ปฏิบัติงาน โดยกิจการร่วมค้าฯ เดิมมีแรงงาน 400 คน ในปีนี้ได้เพิ่มจำนวนแรงงานอีก 120 คน เป็น 520 คนปัจจุบัน และจะเพิ่มทีมบุคลากรและแรงงานเข้ามาปฎิบัติงานพร้อมกับเครื่องจักรทางทะเล อีก 6 ชุด ประกอบด้วยทีมงาน ทีมทำเขื่อนคันล้อมพื้นที่ 3 จำนวน 2 ทีม (60 คน) ทีมทำงานบดอัดและปรับระดับ จำนวน 2 ทีม (30 คน) ทีมงานปรับปรุงคุณภาพดิน PVD 1 ทีม (10 คน) ทีมขนส่งหิน 1 ทีม (20 คน) รวมแล้วมีบุคลากรและแรงงานเพิ่มขึ้นทั้งชาวไทยและชาวจีนทั้งหมด 120 คน ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อเร่งรัดการทำงานให้สอดคล้องกับแผนงานและเครื่องจักรที่นำเข้ามาปฏิบัติงาน