กทพ.เร่งเดินหน้าสร้างทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพคาดสรุปรูปแบบการลงทุนสิ้นปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 1,015 

กทพ.จับมือกทท.เดินหน้าพัฒนาโครงการก่อสร้างทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) มูลค่า 2,480 ล้านบาท มั่นใจสิ้นปีนี้ได้ข้อสรุปรูปแบบการลงทุน พร้อมเตรียมเสนอบอร์ดกลางปี 64 หวังดันเข้า ครม.ปลายปี 64

นางสาวกชพรรณ เข็มทอง ผู้อำนวยการกองวางแผน และวิเคราะห์โครงการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)  กล่าวว่า หลังจากที่ กทพ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 เพื่อสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1)

โดยหลังจากนี้ก็จะให้ที่ปรึกษาโครงการนำรายละเอียดผลสรุปการศึกษาความเหมาะสมของโครงการงาน ความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วกทพ.จะเร่งดำเนินการพิจารณารูปแบบการลงทุนให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ และกทพ.ก็จะนำข้อเสนอรูปแบบการลงทุนหารือร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เพื่อสรุปแผนการลงทุนขั้นสุดท้าย

ทั้งนี้หลังจากสรุปรูปแบบการลงทุนแล้ว กทพ.จะดำเนินการลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาออกแบบก่อสร้างภายในเดือน ม.ค. 64 เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมาย โดย กทพ.จะดำเนินการออกแบบควบคู่กับการดำเนินงานในขั้นตอนนำส่งรายละเอียดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา ซึ่งการพิจารณา EIA  นั้นโดยส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานามกว่าจะได้รับการอนุมัติ

กทพ.คาดว่าจะสามารถเสนอแผนการลงทุนขั้นสุดท้ายต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด กทพ.) ได้ประมาณกลางปี 64 และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ปลายปี 64 จากนั้นจะดำเนินการในขั้นตอนของการประกวดราคาในปี 65 พร้อมดำเนินการก่อสร้างปี 66-67 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 68

สำหรับโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ตลอดแนวเส้นทางโครงการอยู่บนถนนอาจณรงค์ในพื้นที่ของ กทพ. และเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่บริเวณ Terminal 3 ของท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งมีการออกแบบให้เชื่อมต่อกับประตูทางเข้า-ออก Terminal 3 ในแนวทิศเหนือ-ใต้ โดยแนวเส้นทางจะเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) ไปตามแนวถนนอาจณรงค์

ทั้งนี้จากการศึกษาปริมาณการใช้รถยนต์ 4 ล้อ รถบรรทุก 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อ เมื่อเปิดให้บริการโครงการในปี 68 คาดว่าจะมีปริมาณจราจรราว 14,400 คัน/วัน มูลค่าลงทุนประมาณ 2,480 ล้านบาท และจากการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจของโครงการ พบว่า โครงการฯ มีความเหมาะสมคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับร้อยละ 22 อัตราค่าโดยสารอยู่ในระดับ 50 บาท 70 บาท และ 110 บาท