กทพ.เปิดแนวเส้นทางด่วนศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ วงเงินลงทุนกว่า 2.9 หมื่นล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 1,387 

กทพ.เปิดแนวเส้นทางด่วนศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ บนเขตทางเดิมของมอเตอร์เวย์สาย 7 วงเงินลงทุนกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูลปี 68 เริ่มสร้างปี 70 แล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 73

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่า จากการทบทวนการศึกษาเดิมได้พิจารณาแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ แนวเส้นทางบนเขตทางเดิมของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7

โดยจุดเริ่มต้นจะเชื่อมต่อจากจุดสิ้นสุดของทางพิเศษศรีรัช ผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ข้ามมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 บริเวณด่านทับช้าง ข้ามทางแยกต่างระดับร่มเกล้า จนกระทั่งเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ จากนั้นแนวเส้นทางหลักจะไปทางทิศตะวันออกตามแนวทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ผ่าน ICD และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนจะสิ้นสุดโครงการบริเวณก่อนถึงจุดตัดถนนฉลองกรุง ทั้งนี้ขอบเขตการศึกษาแนวเส้นทางจะครอบคลุมการศึกษาเดิม รวมระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร(กม.)

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับตำแหน่งทางยกระดับของโครงการที่เหมาะสม ได้แก่ รูปแบบที่ 1 ทิศใต้ของมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (ขวาทาง) ทางยกระดับมีจุดเริ่มต้น ต่อจากจุดสิ้นสุดของทางพิเศษศรีรัช (ส่วน D) บริเวณเกาะแบ่ง ระหว่างทางหลวงพิเศษและทางบริการ ของทั้ง 2 ทิศทาง ทิศทางละ 2 ช่องจราจร และจะวิ่งผ่านทางต่างระดับศรีนครินทร์ จากนั้นทางยกระดับด้านเหนือจะเบี่ยงแนว ลงมารวมกับด้านทิศใต้เป็น ถนนขนาด 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ) ระยะทางประมาณ 10 กม. ผ่านจุดตัดมอเตอร์เวย์เมืองหมายเลข 9 และจะแยกออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งละ 2 ช่องจราจร ต่อทิศทางเช่นเดิม และจะวิ่งผ่านทางต่างระดับร่มเกล้า ผ่านทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ ซึ่งจะมีทางแยกออก เพื่อเชื่อมต่อทางต่างระดับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งขาเข้าและขาออก จากนั้นแนวเส้นทางหลักจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และลดระดับลงเป็นถนนระดับดินที่จุดสิ้นสุดโครงการ

โดยรูปแบบจุดเริ่มต้นโครงการ (ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์) เป็นรูปแบบมีลักษณะเป็น Partial Cloverleaf Interchange ประกอบด้วย ทางขึ้น-ลง 4 ทิศทาง ได้แก่ (ทิศทางที่ 1) ทางลง Loop Ramp (สีแดง) สำหรับรถที่มาจากลาดกระบังมุ่งหน้าไปรามคำแหง เพื่อเข้าเชื่อมถนนศรีนครินทร์ (ทิศทางที่ 2) ทางขึ้น Loop Ramp (สีน้ำเงิน) สำหรับรถที่มาจากพัฒนาการมุ่งหน้าไปลาดกระบัง เลี้ยวขวาเข้าเชื่อมทางพิเศษของโครงการในทิศขาออกเมือง (ทิศทางที่ 3) ทางลง Directional Ramp (สีแดง) สำหรับรถที่มาจากลาดกระบัง เลี้ยวซ้ายเข้าเชื่อมถนนศรีนครินทร์ (ทิศทางที่ 4) ทางขึ้น Directional Ramp (สีน้ำเงิน) สำหรับรถที่มาจากรามคำแหงมุ่งหน้าไปลาดกระบัง เลี้ยวซ้ายเข้าเชื่อมทางพิเศษของโครงการ ในทิศขาออกเมือง

ส่วนรูปแบบจุดสิ้นสุดโครงการ (ตำแหน่งทางขึ้น-ลงลาดกระบัง) เป็นรูปแบบทางขึ้น-ลง บริเวณก่อนสะพานกลับหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในปัจจุบัน ทั้ง 2 ฝั่ง โดยที่ ทางขึ้น ออกแบบเป็นทางขนาด 2 ช่องจราจรแยกจากทางหลักของมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 อ้อมด้านข้างของสะพานกลับรถในปัจจุบัน ก่อนจะยกระดับเข้าสู่โครงการ ทางลง ออกแบบทางลงขนาด 2 ช่องจราจร อ้อมด้านข้างของสะพานกลับรถในปัจจุบันเข้าเชื่อมทางหลักของมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ขณะที่รูปแบบโครงสร้างทางพิเศษที่เหมาะสม เป็นรูปแบบที่ 3 โครงสร้างทางพิเศษแบบคานรูปกล่องชนิดหล่อสำเร็จแบบกล่องคู่ (Double Segmental Box Girder)

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดช่วงจุดตัดศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน อีกทั้งช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร บนมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น ซึ่งจะเพิ่มทางเลือกและลดระยะเวลาในการเดินทางลงได้

นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า โครงการนี้จะสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นปี 67 ก่อนจะขออนุมัติรายงาน EIA และเสนอโครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในปี 68 และคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปี 68 จากนั้นจะดำเนินงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินช่วงปี 69-71 และจะเริ่มการก่อสร้างในปี 70 น่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 73

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เดิมเป็นโครงการของกรมทางหลวง (ทล.) และได้มีการโอนให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 เบื้องต้นทล.ได้ประเมินวงเงินลงทุนก่อสร้างระยะทาง 18 กม. ตามผลการศึกษาเดิมไว้ที่ประมาณ 29,500 ล้านบาท