กฟผ. ชูแผน “น้ำพอง กรีน เอ็นเนอร์ยี โมเดล” เสริมมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคอีสาน

ผู้ชมทั้งหมด 1,115 

กระแสความต้องการใช้ “พลังงานสะอาด” ที่นับวันจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะกลายเป็นวาระสำคัญของโลก เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ หรือ แก้ปัญหาโลกร้อน และประเทศไทย ก็เข้าร่วมเวที Cop 26 ประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593(ค.ศ.2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs Emission) ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ.2065) โดยไทย จะใช้พลังงานฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าน้อยลง และหันไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาใช้มากขึ้น

การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากฟอสซิล ไปสู่พลังงานหมุนเวียนนั้น ในระยะเริ่มต้นการผลิตไฟฟ้ายังจำเป็นต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าฟอสซิล เป็นโรงไฟฟ้าหลัก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ถือเป็นเชื้อเพลิงสะอาด แต่โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ก็จำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพ เพื่อให้ตอบโจทย์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

“โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง” ซึ่งตั้งอยู่ อ.น้ำพอง จ.ของแก่น ปัจจุบันเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) โดยมีกำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ คิดเป็นราว 20% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ของภาคอีสาน อยู่ที่ประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่ง โรงไฟฟ้าแห่งนี้ เล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน จึงมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าใช้เป็นทั้งโรงไฟฟ้าหลักที่สร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้กับภาคอีสาน พร้อมกับผลิตไฟฟ้าสีเขียวป้อนให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมเป้าหมาย Net Zero

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงาน จึงนำทัพสื่อมวลชนศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าน้ำพอง และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ จ.ขอนแก่น เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อหวังนำมาเป็นส่วนหนึ่งประกอบในการจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2023) ให้บรรลุสู่เป้าหมาย Net Zero

นายอลงกรณ์ พุ่มรักธรรม ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพองโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ระบุว่า ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าน้ำพอง เดินเครื่องการผลิตไฟฟ้ามาแล้ว 34 ปี จากปกติโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมทั่วไป จะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 25-30 ปี แต่โรงไฟฟ้าน้ำพอง ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อยืดอายุการใช้งานให้มากที่สุด โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้รับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซน้ำพองและแหล่งก๊าซสินภูฮ่อม และปัจจุบัน ได้มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับ ปตท. ไปจนถึงปี 2574 หรือ จะยังมีก๊าซฯป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าอีก 8 ปี ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ได้บรรจุการก่อสร้างโรงไฟฟ้าน้ำพอง(ทดแทน) กำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ ไว้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งก็คงต้องรอความชัดเจนจากจัดทำแผน PDP 2023 (ฉบับใหม่) ต่อไป

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าน้ำพอง ได้จัดทำแผน Namphong Green Energy Model  โดยอยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียว เพื่อป้อนให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรรม หรือ บริษัทต่างๆ ที่มีความต้องการใช้พลังงานสีเขียว ตลอด 24 ชั่วโมง ใน 7 วัน ซึ่งก็มีเขื่อนอุบรัตน์ ที่อยู่เลยจากโรงไฟฟ้าน้ำพองไป ปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 25 เมกะวัตต์ แต่เขื่อนจะจ่ายไฟฟ้าได้ตามการควบคุมการปล่อยน้ำของคณะกรรมการฯ และสิ้นปีนี้ เขื่อนอุบลรัตน์ จะเปิดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างโดยเร็ว เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้ทันในปลายปีนี้ 

ทั้งนี้ ภายใต้แผน Namphong Green Energy Model ประกอบด้วยแผนดำเนินการ 4 ด้าน 1. การจัดเก็บคาร์บอน Carbon Capture Storage (CCS) โดยนำคาร์บอนลงไปในหลุมก๊าซฯเก่าได้ คาดมีศักยภาพจัดเก็บประมาณ 10 ล้านตันคาร์บอนต่อปี เนื่องจากโรงไฟฟ้าน้ำพองมี 2 หน่วยผลิตสามารถสลับกันเดินเครื่องการผลิตและหยุดบำรุงรักษาได้ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ

2.การพัฒนา Green Hydrogen หรือ ไฮโดรเจนสีเขียว เนื่องจาก อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่สีม่วง สำหรับรองรับการจัดต้องโรงงานอุตสาหกรรม มีเส้นทางคมมนาคมสะดวก ทั้งรถไฟรางคู่มาถึงแล้ว และรถไฟรางคู่ เฟส 2 เชื่อมจากขอนแก่น ไปถึงหนองคาย ส่วนรถไฟความเร็วสูง ก็มีโครงการมาแล้ว และที่สำคัญสินค้าส่งออกจะผ่านทางขอนแก่นออกไปลาวและต่อรถไฟความเร็วสูงเข้าสู่ประเทศจีนได้ ถือเป็นเส้นทางออกสินค้าที่สำคัญ และปัจจุบันก็อยู่ระหว่างทำการศึกษาท่าเรือบก (dry port) ซึ่งจะจัดตั้งที่ อ.น้ำพอง เพื่อรองรับการขนส่งทั้งจากรถบรรทุกและรถไฟ ที่จะเอื้อต่อการส่งออกสินค้าไปลาวและผ่านรถไฟเชื่อมต่อไปจีน

ดังนั้น กฟผ. มองว่า ถ้ามีไฮโดรเจนสีเขียว ป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับรถไฟและรถบรรทุก เพราะในอนาคตเทคโนโลยีรถไฟและรถบรรทุก จะพัฒนาไปทางไฮโดรเจน กฟผ.จึงมีแผนจะผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ผ่านเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cell) ออกมาเป็นไฟฟ้า ก็จะนำไปขับเครื่องมอเตอร์ไฟฟ้าได้เลย ฉะนั้น หาก กฟผ.มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ 10 เมกะวัตต์ ก็ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ 1,000 กิโลกรัม ถ้านำไปเติมในรถยนต์ หรือ รถไฟ จะวิ่งได้ 4,000 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบัน โรงไฟฟ้าน้ำพอง ยังมีพื้นที่เหลือประมาณ 200-300 ไร่สำหรับรองรับการลงทุนพลังงานสีเขียว แต่หากต้องการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าสีเขียวเพิ่มเติม ก็อาจจะต้องพึ่งทางเขื่อนอุบลรัตน์ ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเพิ่มมากขึ้น

3.การพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cell) เบื้องต้น ต้องดำเนินการหลังจากสัญญาซื้อขายก๊าซสิ้นสุดในปี 2574 คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้า Fuel cell ได้ 30 เมกะวัตต์

และ 4.Carbon Capture Utilization (CCU) เป็นการเปลี่ยนคาร์บอนเป็นมีเทน เพื่อให้ได้ผลพลอยได้คือน้ำมันออกมาใช้ ซึ่งก็อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

“ปัจจุบัน แผน Namphong Green Energy Model ยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณที่ชัดเจน เพราะหลายโครงการอยู่ระหว่างการศึกษา ส่วนตัวโรงไฟฟ้าน้ำพอง(ทดแทน) กำลังผลิตเดิม 650 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 2 หมื่นล้านบาท สร้างในพื้นที่โรงไฟฟ้าปัจจุบันซึ่งมีพื้นที่จัดเตรียมไว้แล้ว 100 ไร่”

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า หากโรงไฟฟ้าน้ำพอง สามารถดำเนินการแผน Namphong Green Energy Model จะส่งผลให้โรงไฟฟ้าน้ำพอง สามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าโดยไม่ปล่อยคาร์บอน มากกว่า ก็ 325 เมกะวัตต์ ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเป็นโรงไฟฟ้า Carbon Net Zero Power Plant

ด้านดร.กันย์ วงศ์เกษม หัวหน้ากองการผลิตโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม กฟผ. ระบุว่ากฟผ.ยังมีการจัดทำต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ เพื่อลดปัญหาที่ดินเพื่อทิ้งขยะ ลดปัญหาการกำจัดขยะในชุมชนขนาดเล็ก โดย กฟผ.ได้ร่วมมือกับนักวิชาการจ.ขอนแก่น ในการพัฒนาต้นแบบโรงไฟฟ้าฯ ซึ่งได้ออกแบบรถ 3 คัน แลบ่งเป็น 1.รถแปรสภาพขยะ RDF ทำหน้าที่สับขยะแห้งขนาดใหญ่ให้เล็กลง 2.รถเตาเผาขยะและผลิตไอน้ำ ทำหน้าที่เผาขยะ และ3. รถผลิตไฟฟ้า ORC ทำหน้าที่ส่งเข้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ปัจจุบัน รถทั้ง 3 คันมาติดตั้งที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง เริ่มดำเนินการเดินเครื่องการผลิต เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565 ผลิตไฟฟ้าได้ 2 หน่วย หน่วยแรก อยู่ที่ 102.5 กิโลวัตต์ และหน่วยที่ 2 อยู่ที่ 101.3 กิโลวัตต์ ซึ่งก็ป้อนไฟฟ้าใช้งานบางส่วนภายในโรงไฟฟ้าน้ำพอง

โรงไฟฟ้าขยะดังกล่าว ดำเนินการในรูปแบบ CSR ใช้ต้นทุนประมาณ 40 ล้านบาท หรือ มีอัตราผลิตไฟฟ้าอยู่ที่กว่า 4 บาทต่อหน่วย จะคืนทุนภายใน 5-7 ปี โดยรับซื้อขยะในอัตรา 200-300 บาทต่อตัน สามารถกำจัดขยะได้ 24 ตันต่อวัน และรถที่ออกแบบมา สามารถรองรับขยะได้ 3-4 ตันต่อวัน ซึ่งเหมาะที่จะนำไปใช้งานกับ อบต.,อบจ.ในพื้นที่ และโมเดลนี้ ยังจำเป็นต้องพัฒนาต่อเพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพก่อนขยายผลต่อไป” 

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ระบุว่า รงไฟฟ้าน้ำพอง(ทดแทน) ยังคงบรรจุอยู่ในแผนPDP ฉบับใหม่ แต่ยังมีประเด็นเรื่องของก๊าซฯที่จะป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้า เพราะหากจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ จำเป็นต้องมีก๊าซฯป้อนเป็นเชื้อเพลิง 20-25 ปี ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เบื้องต้น ยังยืนยันได้แค่ 10 ปี ฉะนั้น ก็มี 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 หากจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ก็จะมีก๊าซฯจากแหล่งบนบกราคาถูกป้อนให้กับโรงไฟฟ้า เพียง 10 ปี หรือ หาก๊าซฯ อีก 10 ปีถัดมา จากการสร้างท่อส่งก๊าซฯจากโคราช โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งก็มีความเสี่ยงเรื่องของราคาก๊าซฯ รวมถึงงบประมาณลงทุนที่สูงขึ้น และจะส่งผลผ่านผลกระทบไปสู่ค่าไฟฟ้าโดยรวม

ส่วนทางเลือกที่ 2 เป็นการใช้ก๊าซฯที่มีอยู่ 10 ปี โดยการขยายโรงไฟฟ้าเดิม ก็เป็นทางเลือกที่อยู่ระหว่างพิจารณาในแผน PDP ฉบับใหม่ ซึ่งก็ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา

ขณะที่ตัวโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ เข้าใจจว่า ทางกฟผ.ทำเป็นลักษณะของ CSR ที่ต้องการช่วยลดปัญหาขยะให้กับชุมชน ซึ่งโมเดลนี้หากจะสำเร็จ เรื่องการคัดแยกขยะ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างความรู้ให้กับชุมชน และหากชุมชนที่มีขยะไม่เกิน 24 ตันต่อวัน ก็เป็นโมเดลที่นำไปดำเนินการได้ แต่ยังต้องรอทาง กฟผ.ทดสอบเทคโนโลยีให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพก่อนนำไปขยายผลในอนาคตต่อไป