กฟผ.มอบหมวกป้องกันเชื้อPAPRหนุนหมอสู้โควิด-19

ผู้ชมทั้งหมด 1,765 

กฟผ. ทยอยส่งมอบหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยขณะปฏิบัติหน้าที่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ประเดิมมอบโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

นางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้เริ่มทยอยส่งมอบหมวกป้องกันเชื้อ PAPR (Powered Air Purifying Respirator) ซึ่งผลิตโดยทีมช่างอาสา กฟผ. ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จังหวัดสมุทรสาคร และโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จังหวัดนครปฐม รวมแล้วเกือบ 20 ชุด ก่อนทยอยมอบให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ หลังพบปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญความลำบากในการปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยทั้งในห้อง ICU ห้องผ่าตัด หรือห้องปลอดเชื้อจนกระทั่งบางรายเป็นลมในชุด PPE ตามที่มีกระแสข่าวในโลกโซเชียล กฟผ. จึงได้เริ่มพัฒนาการผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ร่วมกับทีมแพทย์จนมั่นใจในการใช้งานแล้วจึงทยอยส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ตามที่ได้มีการสำรวจความต้องการใช้งานในเบื้องต้น 

เดิม กฟผ. ตั้งใจผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR จำนวน 300 ใบ แต่เนื่องจากพนักงาน กฟผ. ต้องการมีส่วนร่วมกับประชาชนจึงได้เกิดการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์ม “เทใจ” จนได้เงินสนับสนุนมาซื้ออุปกรณ์การผลิตอีก 200 ใบ รวมเป็น 500 ใบ โดยมีศูนย์กลางการประกอบหลักที่ กฟผ.สำนักงานหนองจอก และกระจายไปยังเขตเขื่อน โรงไฟฟ้าต่าง ๆ ที่มีความสามารถภายใต้การควบคุมมาตรฐานกลางเดียวกัน ซึ่งจะผลิตในห้อง Clean Room เพื่อควบคุมความสะอาดตลอดขั้นตอนการผลิต

นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า หมวกป้องกันเชื้อ PAPR จะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สู่บุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ของ กฟผ. ยังมีน้ำหนักเบา คล่องตัวเวลาใช้งาน ไม่มีเสียงรบกวนจากพัดลมทำให้สามารถสื่อสารกับทีมได้ดีขึ้น และแบตเตอรี่ที่อยู่ได้นานทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปได้ดีขึ้น

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว กล่าวว่า ในการต่อสู้กับโควิด-19 ชุดป้องกันเป็นเสมือนเสื้อเกราะในการออกรบ แต่ปัญหาที่พบก็คือชุด Coverall เป็นชุดที่ใช้แล้วทิ้งจึงสิ้นเปลืองมาก อีกทั้งยังร้อนอบอ้าว แต่การมีหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ทำให้ประหยัดชุด Coverall ได้ อีกทั้งยังดูแลผู้ป่วยได้นานขึ้น เพราะแบตเตอรี่สามารถอยู่ได้ถึง 8 ชั่วโมง โดยไม่รู้สึกอ่อนล้า และสามารถปกป้องบุคลากรทางการแพทย์จากเชื้อโควิด-19 ได้อีกด้วย

ด้าน พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เปิดเผยว่า การสวมชุด PPE ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ยากลำบาก เพราะตัวชุดค่อนข้างใหญ่และต้องใช้คู่กับหน้ากาก N95 ทำให้ร้อนและหายใจไม่ออก แต่หมวกป้องกันเชื้อ PAPR มีลมเป่าค่อนข้างเย็น ทำให้หายใจง่าย และสามารถทำงานในอากาศร้อนได้ นอกจากนี้ การสวมหน้ากากหรือ Face Shield ทำงาน เมื่ออากาศร้อนจะทำให้เกิดฝ้า หมวกป้องกันเชื้อ PAPR ก็จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้