กฟผ. ยกระดับการฟื้นฟูป่าตามมาตรฐาน Premium T-VER นำร่อง 2,000 ไร่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาว

ผู้ชมทั้งหมด 729 

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality การปลูกป่านั้นเป็นวิธีหนึ่งที่หลายหน่วยงานได้ดำเนินการ โดยทำควบคู่ไปกับการลดการใช้พลังงาน การลงทุนด้านพลังงานทดแทน โครงการ “การพัฒนาต้นแบบโครงการ Premium T-VER ประเภทป่าไม้” เป็นการต่อยอดมาจากโครงการ T-VER การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูป่า โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปลูกป่าไปแล้วจำนวน 470,000 ไร่ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ  

ทั้งนี้ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมป่าไม้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ร่วมจัดงานสัมมนาเผยแพร่แนวทางการพัฒนาโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER) พร้อมเปิดตัวพื้นที่ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งขวา จ.ลำปาง ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. เป็นต้นแบบ Premium T-VER ภาคป่าไม้ ที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ อบก. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ตลาดคาร์บอนมีความสำคัญในฐานะกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรม ซึ่งจะช่วยชะลอและลดปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ หน่วยงานนานาชาติหลายแห่งรวมถึงภาครัฐจึงเริ่มกำหนดหลักการ และมีทิศทางความต้องการคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพสูง ตอบโจทย์เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามความตกลงปารีส อบก. จึงร่วมมือกับ กฟผ. กรมป่าไม้ และ มก. จัดโครงการ “การพัฒนาต้นแบบโครงการ Premium T-VER ประเภทป่าไม้” โดยเลือกพื้นที่การดำเนินงานภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. ในพื้นที่ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งขวา จ.ลำปาง เพื่อทดสอบระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจประเภทป่าไม้ เครื่องมือการคำนวณที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำผลที่ได้รับไปปรับปรุงสำหรับใช้เป็นแนวทางในการขยายผลต่อไป

ปัจจุบันมีองค์กรยื่นแจ้งความประสงค์ในการพัฒนาโครงการ Premium T-VER อีก 14 โครงการ โดยโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. เป็นโครงการแรกที่ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม การตรวจสอบค่าฐาน (Baseline) และการตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการ พร้อมต่อการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ Premium T-VER แห่งแรกของประเทศไทย

ด้าน นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ร่วมดำเนินโครงการ T-VER ตั้งแต่ปี 2557 ผ่านโครงการพัฒนาพลังงานทดแทนและมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานในพื้นที่โรงไฟฟ้าและกิจการของ กฟผ. จำนวน 10 โครงการ นับคาร์บอนเครดิตได้ 410,746 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ ยังดำเนินภารกิจองค์กรเพื่อมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี พ.ศ. 2593 และ Thailand Carbon Neutrality ตามกรอบแผนพลังงานชาติ โดยในระยะเวลาปี 2565 – 2574 นั้นกฟผ. ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 1 ล้านไร่ ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวกฟผ. ได้ดำเนินการปลูกป่าไปแล้วกว่า 1 แสนไร่ และเพื่อให้เกิดต้นแบบการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ กฟผ. จึงยื่นขอขึ้นทะเบียนยกระดับมาตรฐาน T-VER  ให้เป็น Premium T-VER ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐานคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ระดับสากลแห่งแรกของประเทศไทย โดยดำเนินการร่วมกับพันธมิตร เลือกพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบโครงการ Premium T-VER แห่งแรกของประเทศ

การดำเนินโครงการ Premium T-VER กฟผ.ได้ขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งขวา ต.แม่ตีบ จ.ลำปาง จำนวน 2,000 ไร่ ระยะเวลาโครงการ 15 ปี เริ่มดำเนินโครงตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 จะไปสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2581 อย่างไรก็ตามกฟผ.ได้ปลูกต้นไม้เสร็จแล้ว แต่ก็ต้องดำเนินการดูแลรักษาพื้นที่ป่าแห่งนี้จนสิ้นสุดสัญญาขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า โดย กฟผ. ได้จ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมปลูกและดูแลบำรุงรักษาป่าตลอดระยะเวลา 15 ปี เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ เพื่อให้มั่นใจว่าต้นไม้ที่ปลูกจะอยู่รอดและเติบโตเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์และเลี้ยงชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน นอกจากเป็นการช่วยฟื้นฟูและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ แล้วการดำเนินโครงการ Premium T-VER คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 912 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี เพิ่มพื้นที่ป่าได้ 1,998 ไร่ กักเก็บ Co2 ได้ 18,195 ตัน

สำหรับข้อแตกต่างโครงการ T-VER กับโครงการ Premium T-VER ก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก โดยโครงการ T-VER เป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ รวมถึงการปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะเลือกพื้นที่สำหรับการปลูกกล้าไม้ที่มีวงปี ซึ่ง อบก. จะพิจารณาขึ้นทะเบียนและรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้เป็น “คาร์บอนเครดิต” ใช้รายงานการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรได้

ส่วนโครงการ Premium T-VER จะมีความพิเศษขึ้น เนื่องจากให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ก่อนเริ่มดำเนินโครงการ การประเมินความเสี่ยงต่อการสูญเสียคาร์บอนจากความไม่ถาวรของโครงการ อาทิ การบริหารโครงการ การเกิดไฟไหม้ป่า แมลง หรืออุบัติภัยต่างๆ รวมถึงการขยายตลาดคาร์บอนเครดิตจากในประเทศสู่ต่างประเทศ ซึ่งสอดรับกับแนวทางการดำเนินโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่น