กฟผ.ร่วมโชว์นวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด งาน SETA 2022

ผู้ชมทั้งหมด 929 

กฟผ. ร่วมสนับสนุนการจัดงานประชุมและนิทรรศการระดับนานาชาติ SETA 2022 ขนนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด Hydro-Floating Solar Hybrid, Carbon Capture, Hydrogen และ EV จัดแสดง ระหว่างวันที่ 20 – 22 ก.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา หวังร่วมผลักดันประเทศไทยให้บรรลุเป้า Carbon Neutrality ในปี 2050 และNet Zero Emission ในปี 2065

พิธีเปิดงาน SETA 2022, SOLAR+STORAGE ASIA 2022 และ Enlit Asia 2022 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา กรุงเทพฯ วานนี้ (20 ก.ย.2565) โดยมีแขกผู้มีเกียรติจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ภาครัฐ และเอกชนด้านพลังงานกว่า 200 แห่งทั่วโลก ร่วมจัดแสดงสินค้าและเทคโนโลยีด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชีย ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิดการเติบโตทางพลังงานที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) รวมถึงเปิดตัวนวัตกรรมในการจัดเก็บพลังงาน มุ่งสร้างสมดุลแห่งการผลิตไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชม. อีกทั้งยังมีเวทีเสวนาร่วมถกประเด็นด้านพลังงานตลอดทั้ง 3 วัน ระหว่างวันที่ 20 – 22 กันยายน 2565

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แทน กฟผ. เข้าร่วมงานในครั้งนี้เพื่อร่วมผลักดันประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero Emission ปี 2065 โดยได้เผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมพลังงานสะอาด พร้อมทั้งศึกษาเทคโนโลยีในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าที่จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์และลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศได้ อาทิ Hydro-Floating Solar Hybrid การผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริดระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำ ควบคุมด้วยระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System : EMS) ร่วมกับการพยากรณ์อากาศ

โดยนำร่องแห่งแรกแล้วที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 MW ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และอยู่ระหว่างดำเนินการที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำลังผลิต 24 MW โดยเพิ่มแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน เพื่อศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้มีการศึกษา Carbon capture การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากไอเสียของโรงไฟฟ้า โดยมีแผนนำร่องที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง อีกทั้งยังศึกษาการนำคาร์บอนไดออกไซด์จากการดักจับไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอนาคต

อีกทั้ง ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการผสมผสานไฮโดรเจนกับก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับกังหันก๊าซ (Gas turbine) ในโรงไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิต Green Hydrogen เพื่อผลิตไฟฟ้าในเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ซึ่งจะเป็นการผลิตไฟฟ้าโดยที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รวมถึงพัฒนาและสนับสนุนเทคโนโลยีที่เร่งการเติบโตของธุรกิจ EV เพื่อลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซต์ในภาคขนส่ง ด้วยการเปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT โดยร่วมลงทุนและสร้างความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรต่าง ๆ แล้วกว่า 70 สถานีและตั้งเป้าที่จะขยายสถานีให้มีจำนวนรวมมากกว่า 100 สถานีภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งพัฒนา Digital Platform หรือ Application EleXA สำหรับค้นหาสถานี สั่งชาร์จ และชำระค่าบริการ รวมถึงศึกษาแนวทางในการจัดการซากแบตเตอรี่จากรถ EV ที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมพร้อมเรื่อง Repurpose Battery และ Recycle Battery อีกด้วย

นอกจากนี้ ภายในงาน กฟผ. ยังได้ร่วมอภิปรายบนเวทีเสวนา ร่วมกับผู้นำทางด้านพลังงานไฟฟ้าของกลุ่มประเทศอาเซียน ในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานที่กำลังเป็นที่สนใจในปัจจุบัน อาทิ CEO Energy Forum “ASEAN Leaders’ Panel: Net Zero: Establishing a Realistic ASEAN Roadmap”, Clean Energy Revolution “EGAT Insights: Hydro-Floating Solar Project Development in Thailand & Lessons for ASEAN”, หัวข้อ “SMR Technology for Carbon Neutrality, Security and Sustainable Energy of Thailand”, หัวข้อ “บทบาทและแนวทางการขับเคลื่อนแผนนโยบายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย” ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยและประเทศทั่วโลกบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero Emission ปี 2065 ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ภานในงานดังกล่าวมีพิธีมอบรางวัล Executive Energy Award ซึ่งในปีนี้ กฟผ. ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลองค์กรยอดเยี่ยมที่ขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และรางวัล Renewable Energy & Sustainability ด้วย