กฟผ.สยายปีกสู่ธุรกิจEVปล่อย4โปรดักส์ลุยเชิงพาณิชย์

ผู้ชมทั้งหมด 1,737 

กฟผ. สยายปีกสู่ธุรกิจ EV ปล่อย 4 โปรดักส์ลุยเชิงพาณิชย์ไตรมาส 2-3/64 ตั้งบริษัท อีแกท อินโนเวชั่นฯ เสริมความคล่องตัวการลงทุน พร้อมผนึก 6 ค่ายรถยนต์เชื่อมโยงข้อมูลสถานีชาร์จ และการส่งเสริมการขาย เม.ย.นี้เริ่มเก็บค่าไฟฟ้า

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(บอร์ดกฟผ.)  กล่าวภายในงานเปิดตัวธุรกิจ “EGAT EV Business Solutions” และเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ EV Charging Station & Platform co creation for Electric Vehicles Project ระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฟผ. และพันธมิตรจาก 6 บริษัทรถยนต์ชั้นนำ ได้แก่ Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan และ Porsche โดยระบุ ว่า รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์และเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก

ปี 2583 คาดมีรถยนต์EV4.5ล้านคัน

โดยพบว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2553 – 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าในปี 2568 ราคารถยนต์ EV จะเท่ากับราคารถยนต์สันดาปภายใน และในปี 2583 จะมีรถยนต์ EV มากว่ารถยนต์สันดาปภายใน หรือคาดว่าจะมีรถยนต์ EV ราว 4.5 ล้านคัน จากปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอินราว 180,000 ที่จดทะเบียนในประเทศไทยโดยในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% ราว 5,600 คัน ขณะที่แผนการส่งเสริมรถยนต์ EV ในประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กำหนดเป้าหมยปี 2573 จะมีการผลิตรถยนต์ EV 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดหรือคิดเป็นประมาณ 750,000 คัน

ปลายเดือนมี.ค.64ประชุมบอร์ดรถยนต์EV

อย่างไรก็ตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติในช่วงปลายเดือน มีนาคม 2564 จะมีการพิจารณากำหนดแนวทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจนมากขึ้นอีกครั้ง โดยอาจจะนำเอาข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอให้ปรับเป้าหมายปี 2573 จะมีการผลิตรถยนต์ EV เป็น 50% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดมาพิจารณาด้วย ทั้งนี้การส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV นั้นยังเป็นการตอบโจทย์การก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์เป็นศูนย์(Carbon neutrality)

ขณะเดียวกันการขับเคลื่อนธุรกิจ EV ก็จะดำเนินงานภายใต้บริษัท อีแกท อินโนเวชั่น โฮลดิ้งส์ คัมปานีส์ จำกัด โดยกฟผ.ถือหุ้นในสัดส่วน 40% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ถือหุ้น 30% และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้นในสัดส่วน 30% ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้นในการขยายการลงทุนในธุรกิจ EV ซึ่งล่าสุด คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อ 10 มี.ค. 2564 ได้อนุมัติให้จัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้ว โดยนอกจากขับเคลื่อนธุรกิจ EV แล้วยังดำเนินธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (เทรดดิ้งไฟฟ้า) ด้วย

“ประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน ได้เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมุ่งยกระดับให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และเป็นอนาคตของประเทศ โดยถือเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ เพื่อรักษาและต่อยอดความเป็นผู้นำของฐานการผลิตยานยนต์เพื่อการส่งออกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นจะช่วยส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างและพัฒนาตลาดแรงงานใหม่ ๆ เพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ” นายกุลิศ กล่าว

ปล่อย4โปรดักส์EVลุยเชิงพาณิชย์ไตรมาส 2-3/64

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. พร้อมสร้างการเปลี่ยนผ่านให้แก่ภาคพลังงานและคมนาคมขนส่ง ในฐานะของผู้ให้บริการด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าที่สำคัญ ซึ่งธุรกิจใหม่ของ กฟผ. “EGAT EV Business Solutions” จะเป็นการตอบโจทย์ความต้องการใช้รถยนต์ EV ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต และเป็นการลดตอบโจทย์ประเทศไทยการก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์เป็นศูนย์                                                                                             

ทั้งนี้ 4 ผลิตภัณฑ์และบริการภายใต้ธุรกิจ “EGAT EV Business Solutions” ประกอบด้วย 1.สถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGAT” ที่ชาร์จไฟได้รวดเร็ว ปลอดภัย มั่นใจ เพื่อรองรับทุกการเดินทางของผู้ใช้ยานยนต์ทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้ติดตั้งไปแล้ว 13 สถานี และตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้งเพิ่มอีก 35 สถานีเป็น 48 สถานี ภายในสิ้นปี 2564 โดยเน้นขยายสถานีไปตามเส้นทางการเดินทางหลักทั่วประเทศ เพื่อเลือกพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานและตรงกับตามต้องการของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด

2.Mobile Application Platform “EleXA” ที่เสมือนเป็นผู้ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในทุกขั้นตอนให้แก่ผู้ใช้รถ EV ตั้งแต่การค้นหา การจอง ชาร์จ และจ่ายเงิน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายและรวดเร็วสำหรับผู้ใช้งานทุกคน โดย กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ให้สามารถเชื่อมโยง ทั้งลูกค้า ร้านค้า ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้สถานีของ กฟผ. เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่กลุ่มเครือข่ายทั้งหมดนี้และยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งเครือข่ายไปพร้อม ๆ กันกับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทั้งสถานีชาร์จฯ และแอพลิเคชั่นจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2/2564

3.ตู้อัดประจุไฟฟ้า “EGAT Wallbox และEGAT DC Quick Charger” เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแก่ผู้ใช้งานรถ EV โดย EGAT Wallbox เป็น Home Charger ที่เล็กกะทัดรัด โดย กฟผ.ได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายเพียงรายเดียวในประเทศไทย ในการเป็นผู้ดูแลให้บริการติดตั้งและบำรุงรักษาให้แก่ลูกค้าโดยตรง และในปัจจุบัน กฟผ. ได้พัฒนาตู้อัดประจุไฟฟ้า EGAT DC Quick Charger ขนาด 120 kW ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ โดย กฟผ. จะนำผลิตภัณฑ์นี้ออกใช้งานในเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3/2564  

4.ระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า “BackEN หรือ Backend EGAT Network Operator Platform” ที่จะเชื่อมโยงระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดเข้าด้วยกันที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชม.คาดว่าจะเปิดบริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 3/2564

ทั้งนี้ในการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้านั้นกฟผ.ยังมองโอกาสร่วมลงทุนกับพันธมิตรรายอื่นอีกด้วย  ร่วมกันพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ EV จากที่ได้ร่วมมือกับ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยจะเปิดนำร่องที่สถานีบริการน้ำมัน PT สาขาปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าชมข้อมูลธุรกิจเพิ่มเติม ได้ที่ www.elexaev.com

คิดค่าชาร์จไฟ7 บาทต่อหน่วย

ด้านนายวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาตร์ กฟผ. กล่าวว่า คาดว่าจะเริ่มดำเนินการคิดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV ที่มาใช้บริการในสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. เริ่มตั้งแต่เดือน เมษายน 2564 โดยคิดราคาโปรโมชั่นก่อน ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บนั้นจะอยู่ที่ 7 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็น 1.30 บาทต่อกิโลเมตร