กรมเชื้อเพลิงฯ ลั่นเปลี่ยนผ่านระบบบริหารจัดการ “แหล่งบงกช” ไร้รอยต่อ

ผู้ชมทั้งหมด 430 

กรมเชื้อเพลิงฯ ยันการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทาน สู่ ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแหล่งบงกช วันที่ 8 มี.ค. ราบรื่น กำลังการผลิตก๊าซฯทะลุเป้า แตะ 868 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ด้าน ปตท.สผ. ปลื้มคว้า ประมูลปิโตรเลียมรอบ 24 ในอ่าวไทย 2 แปลง ลั่นพร้อมเดินหน้าพัฒนาโดยเร็ว หนุนความมั่นคงพลังงานชาติ

วันนี้ (8 มีนาคม 2566) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้กำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแปลง 16 และ 17 (แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช) จากระบบสัมปทาน ไปสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต แปลง G2/61 ด้วยความราบรื่น โดยวันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันแรกของการเริ่มสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงดังกล่าว

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้รับมอบสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมจากบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ อีพี ไทยแลนด์ ผู้รับสัมปทานรายเดิม และส่งมอบให้แก่ บริษัท ปตท.สผ. อีดี ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต เพื่อผลิตปิโตรเลียมในแปลง G2/61 ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง

โดยอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ ณ วันสิ้นสุดสัมปทานของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข 16 และ 17 (แปลง G2/61) อยู่ที่ 678 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อรวมกับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลง G2/61 (แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข 15 ที่ดำเนินงานภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 65 ที่ผ่านมา) จำนวน 190 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลง G2/61 จึงอยู่ที่ 868 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ด้าน นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า จากการที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานได้ประกาศผล ผู้ชนะการประมูลแปลงสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) นั้น บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ชนะการประมูลและได้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำนวน 2 แปลง คือ แปลง G1/65 และแปลง G3/65 มีพื้นที่รวมกัน 19,515.42 ตารางกิโลเมตร โดย ปตท.สผ. อีดี ถือสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 100 ในทั้ง 2 แปลง

 “ปตท.สผ. มีความยินดีที่เราชนะทั้ง 2 แปลงที่ยื่นประมูล ซึ่งทั้ง 2 แปลงอยู่ใกล้กับแปลง G1/61 และ G2/61 ที่เราเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้สามารถพัฒนาโครงการได้รวดเร็วขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทยและคนไทย”

ทั้งนี้ การชนะประมูลแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 24 ถือเป็นอีกหนึ่งในความสำเร็จของ ปตท.สผ. ที่มุ่งเน้นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัท

ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกว่า 50 โครงการ ใน 14 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นโครงการในประเทศไทยจำนวน 14 โครงการ