กลุ่มบางจากฯ ต่อยอดงานวิจัยฯทดลองผลิตน้ำมันอากาศยานจากเชื้อเพลิงชีวภาพ

ผู้ชมทั้งหมด 742 

กลุ่มบางจากฯ ผนึก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ มทร.อีสาน ทดลองการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพจากเอทานอล หนุนโมเดล BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

วันนี้ (24 ม.ค.2564) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนวัตกรรมสีเขียวเพื่อทดลองผลิต Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือ เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืนจากเอทานอล สู่การพัฒนาน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำจากฐานงานวิจัย เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล” เมื่อปี พ.ศ. 2563 ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของเอทานอลจากการเปลี่ยนเป็นแก๊สโซฮอล์ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงในการผลิต SAF และช่วยส่งเสริมการพัฒนาเครือข่าย Supply Chain ของเชื้อเพลิงชีวภาพ

?

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจาก กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญเพื่อขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่บางจากฯ ได้นำเอาความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและประสบการณ์ในการกลั่นผลิตภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงการบิน และความชำนาญในธุรกิจเอทานอลของบริษัท บีบีจีไอฯ ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและกำลังรุกเข้าสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง มาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ SAF สนับสนุนอุตสาหกรรมการบินที่ยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุดถึง 80% ตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับน้ำมันอากาศยานทั่วไป แต่ยังขึ้นชื่อว่าเป็นน้ำมันอากาศยานคุณภาพสูงเหมาะสำหรับเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นขับไล่ของกองทัพอากาศอีกด้วย

ทั้งนี้ บางจากฯ มุ่งมั่นที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพแทนการใช้ฟอสซิล เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2593 โดยเป้าหมายแรกคือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี พ.ศ. 2573

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บีบีจีไอฯ มีโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายไบโอดีเซลและเอทานอล ด้วยโรงงานผลิตไบโอดีเซลกำลังการผลิตรวม 1,000,000 ลิตรต่อวัน และโรงงานผลิตเอทานอลที่มีกำลังการผลิตรวมสำหรับเอทานอลทั้งหมด 600,000 ลิตรต่อวัน ทำให้มีความเชี่ยวชาญเต็มศักยภาพและพร้อมสนับสนุนการศึกษาครั้งนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าจากกระบวนการผลิตเอทานอลและสนับสนุนนวัตกรรมพลังงานสีเขียว ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในนามกลุ่มบางจากฯ

“การศึกษาต่อยอดจากฐานงานวิจัยในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศให้มีมูลค่าสูงขึ้น จากวัตถุดิบภาคการเกษตรที่มีอยู่มากมาย พัฒนาเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่มีประโยชน์มหาศาลต่ออุตสาหกรรมการบิน โดยองค์ความรู้ในการผลิต SAF นี้ มีฟูเซลแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการกลั่นเอทานอลเป็นวัตถุดิบ”

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โครงการวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล” นี้ประสบผลสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการหรือ Lab Scale ในการผลิตน้ำมันชีวภาพ สำหรับใช้ในเครื่องบินซึ่งเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูงจากวัตถุดิบที่เรียกว่า “ฟูเซล (Fusel)” ของโรงงานผลิตเอทานอลที่มีวัตถุดิบจากอ้อย มันสำปะหลัง และกากส่า ถือเป็นพืชเศรษฐกิจตามการส่งเสริมของนโยบายภาครัฐ

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าว ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่ประเทศกำลังมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การลงนามในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการไปสู่การใช้งานในระดับประเทศ พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์และการลงทุนเพื่อผลิตน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำจากผลิตภัณฑ์พลอยได้ของโรงงานเอทานอลในเชิงพาณิชย์ ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาคุณภาพน้ำมันเครื่องบินที่มีคุณภาพสูงและคาร์บอนต่ำ สำหรับส่งออกและใช้ภายในประเทศ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกระบวนการหมักวัสดุทางการเกษตรเพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำมัน SAF ที่มีมูลค่าสูงขึ้น

อีกทั้งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการยกระดับเทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมสีเขียวให้กับภาคอุตสาหกรรม และเป็นแพลตฟอร์มที่ดีที่หน่วยงานของภาครัฐทำหน้าที่ช่วยผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขึ้นในภาคธุรกิจ ทั้งจากการให้ทุนวิจัยและจับคู่พันธมิตร ด้านงานวิจัยให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน