กลุ่มอดีตผู้บริหารกฟผ.เรียกร้องนายกฯ 4 ประเด็น เร่งตั้ง “เทพรัตน์” เป็นผู้ว่ากฟผ.คนใหม่

ผู้ชมทั้งหมด 18,826 

กลุ่มอดีตผู้บริหารกฟผ.เรียกร้อง 4 ประเด็น เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ และรวม.พลังงาน เร่งแต่งตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” เป็นผู้ว่ากฟผ.คนใหม่ ยกเลิกค่าความพร้อมจ่าย ให้กฟผ.กลับมามีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า 50% เลิกแยกศูนย์ควบคุมไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 กลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และภาคประชาชนนำโดย นายพิเชษฐ์ ชูชื่น อดีตผู้บริหารกฟผ.,นายธรรมยุทธ สุทธิวิชา อดีตสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ.(สร.กฟผ.) และนายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดแถลงการณ์ถึงข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ว่าการกฟผ.คนที่ 16 และการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่ประชาชนเดือดร้อน ประกอบด้วย 4 ประเด็นด้วยกัน

นายพิเชษฐ์ ชูชื่น อดีตผู้การโรงไฟฟ้าจะนะ และบางปะกง ในนาม “กลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน และภาคประชาชน” กล่าวว่า ในนาม “กลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน และภาคประชาชน” ขอเรียกร้องต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการคลัง และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงพลังงาน เพื่อให้เร่งพิจารณาใน 4 ประเด็นสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง

โดยประเด็นที่สำคัญอันดับแรก คือ ขอให้เร่งพิจารณาแต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่ากฟผ.คนใหม่ (คนที่16) เนื่องจากมีการดำเนินการด้วยความถูกต้องและชอบธรรมผ่านคณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการกฟผ. แล้ว ซึ่งก่อนหน้าก็ได้เสนอไปยังรมว.พลังงานขณะนั้นคือ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ แต่ต่อมามีการยุบสภาไปเสียก่อนรัฐบาลรักษาการจึงดำเนินการไม่ได้จึงมีการนำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วแต่ทางกลต.ยืนยันว่าจะต้องเสนอรัฐบาลใหม่ ดังนั้นเรื่องนี้จึงอยู่ที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะสามารถนำเสนอครม.ใหม่ได้เพราะเป็นการสรรหามาโดยชอบธรรม

ส่วนข้อเรียกร้องในประเด็นที่ 2. ขอให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาการยกเลิกค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payments : AP ของโรงไฟฟ้าเอกชนที่ปัจจุบันแม้จะเดินเครื่องการผลิตหรือไม่ก็ต้องจ่าย ทำให้ภาระดังกล่าวไปตกอยู่กับประชาชนที่จะต้องรับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น 3. รัฐบาลควรพิจารณาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ที่ไม่ให้ต่ำกว่า 51% เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 5 ว่าด้วยเรื่องหน้าที่ของรัฐ มาตรา 56 กิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อ การดํารงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทําด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของเอกชนหรือทําให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 51% มิได้

ประเด็นที่ 4. ขอให้พิจารณาทบทวนการกำหนดให้แยก ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าออกจากกฟผ.ที่มีบทบาทหน้าที่ มีอำนาจควบคุมด้านความมั่นคงและความเป็นธรรมของระบบไฟฟ้าของประเทศซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายหากแยกออกไปแล้วเอื้อต่อเอกชนเพราะกฟผ.ไม่ได้เป็นกิจการที่มุ่งแสวงหาผลกำไร อย่างไรก็ตามทั้ง 4 ประเด็นนี้ทาง “กลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน และภาคประชาชน” ได้เตรียมที่จะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในเร็วๆนี้ อย่างแน่นอน ซึ่งภายหลังจากยื่นหนังสือแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไขก็จะนัดชุมนุมกันครั้งใหญ่

นายธรรมยุทธ สุทธิวิชา อดีตสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ.(สร.กฟผ.) กล่าวว่า การแต่งตั้งผู้ว่ากฟผ.ได้ใช้เวลาล่วงเลยมา 4 เดือนซึ่งไม่เคยมีในประวัตศาสตร์จึงมีการมองได้ว่านี่อาจจะเป็นการแทรกแซงจากกลุ่มทุนหรือไม่ ทำให้กฟผ.เองขาดผู้บริหารรวมถึงระดับผู้อำนวยการฝ่าย 10 กว่าท่านก็ได้เกษียณ รวมไปถึงระดับรองผู้ว่าการอีก 2 ท่านทำให้ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งจึงกลายเป็นเป็ดง่อยและหลุมดำของการบริหารงานจึงต้องการให้มีการนำเสนอครม.โดยเร็ว ซึ่งประเด็นนี้ทางสร.กฟผ.ปัจจุบันกำลังติดตามอยู่หากมีอะไรที่ไม่ถูกต้องก็พร้อมจะเคลื่อนไหวครั้งใหญ่

สำหรับในเรื่องค่าไฟฟ้าแพงนั้นในความเป็นจริงต้นกำเนิดเกิดมาจากในอดีตภาครัฐและกระทรวงพลังงานเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทและกำหนดนโยบายในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ามากเกินไปโดยขาดการสร้างความสมสมดุลย์ด้าน Demand และ Supply จะเห็นจากปัจจุบัน Supply มีมากกว่า Demand เกินครึ่งหนึ่ง ซ้ำยังกำหนดให้ กฟผ. ทำสัญญาจ่ายค่าความพร้อมและอื่น ๆ ตลอดจนปล่อยปละละเลยกำหนดนโยบายให้ใช้พลังงานหมุนเวียนมากเกินไปโดยอ้างปัญหาโลกร้อน และไปลงนามสัญญาร่วมกับประเทศต่าง ๆ โดยไม่ดูข้อจำกักต่างๆ ภายในประเทศ จนเป็นเหตุให้เกิดข้อครหารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนพลังงานรายใหญ่

ทั้งนี้จากนโยบายที่ท่านรัฐมนตรีพลังงานประกาศลดค่าไฟตามข่าวที่ออกมาเป็นเรื่องที่ดีแต่เป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ ปัญหาจะไม่สามารถถูกแก้ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน ดังนั้นการแก้ปัญหาค่าไฟแพงนั้นควรแก้ไขที่ต้นเหตุคือการแก้ไขสัญญาที่รัฐเสียเปรีบกับเอกชนใหม่ เช่น ค่าความพร้อมจ่าย เป็นต้น แก้ไขสัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนสำหรับรายใหม่ สร้างความสมดุลย์ Demand และ Supply อย่างสมเหตุสมผล เปิดเสรีการนำเข้าเชื้อเพลิง GAS (LNG) เพื่อให้เกิดการแข่งขันจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง กำหนดให้ภาคเอกชนสามารถขอใช้ท่อ Gas จาก ปตท. ได้โดยไม่มีเงื่อนไข โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล ควรให้ กฟผ. เป็นองค์กรหลักในการนำเสนอและจัดทำแผน PDP เพื่อนำเสนอรัฐบาลได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามหากมีการเปิดเสรีการซื้อขายไฟฟ้า ทางกลุ่มฯ ก็มั่นใจว่ากฟผ. จะสามารถแข่งขันกับเอกชนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีความ มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนพัฒนาก่อสร้างไฟฟ้า เดินเครื่องจักร และบำรุงรักษา