ขร.ถอดรูปแบบมาตรฐานรถไฟฟ้าไต้หวัน สู่การต่อยอดพัฒนาระบบขนส่งทางรางไทย  

ผู้ชมทั้งหมด 987 

สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นอีกประเทศที่มีระบบการขนส่งทางรางที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดีไม่ว่าจะเป็นการให้บริการเดินรถ การรักษาความปลอดภัยที่ดี การเดินทางสะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา ภายในสถานี มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีการใช้ระบบตั๋วร่วม ซึ่ง กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จึงมีแนวคิดนำเอาต้นแบบการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าของไต้หวันมาประยุกต์ใช้กับระบบขนส่งทางรางในประเทศไทยเพราะเหมาะสมและใกล้เคียงกับบริบทของคนไทย    

สำหรับการขนส่งทางรางของไต้หวันนั้นมี 4 ระบบ ประกอบด้วย 1.รถไฟธรรมดาที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล (ดีเซลราง) หรือ TRA เป็นระบบรถไฟท้องถิ่นของประพเทศไต้หวันให้บริการวิ่งระหว่างเมืองวิ่งรอบเกาะไต้หวันทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก 2.รถไฟหัวกระสุน (รถไฟฟ้าความเร็วสูง) THSR (TAIWAN HIGH SPEED RAIL) ความเร็ว 300 กม./ชม. เปิดให้บริการ1 สาย 3. รถไฟฟ้า MRT ให้บริการ 12 สาย และ 4. รถไฟพิเศษ Alishan Forest Railway เพื่อขนส่งไม้, Taiwan Sugar Railway ขนส่งน้ำตาล

ส่วนการบริหารจัดการเดินรถระบบรางของไต้หวันนั้นหากเป็นรถไฟ TRA รถไฟความเร็วสูง กรมการขนส่งทางรางของไต้หวันจะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลและให้บริการ ส่วนระบบรถไฟฟ้าในเมืองจำนวน 12 สาย แบ่งเป็นใน เมืองไทเป 6 สาย บริษัท Taipei Rapid Transit Corporation : TRTC เป็นผู้บริหารจัดการระบบเดินรถ นครไทเปใหม่ 2 สาย โดยมีบริษัท New Taipei Metro Corporation : NTMC เป็นผู้บริหารจัดการระบบเดินรถ เมืองเกาสง 2 สาย บริษัท Kaohsiung Rapid Transit Corporation : KRTC เป็นผู้บริหารจัดการระบบเดินรถ เมืองเถาหยวน 1 สาย บริษัท Taoyuan Metro Corporation : TYMC เป็นผู้บริหารจัดการระบบเดินรถ เมืองไท่จง 1 สาย บริษัท Taichung Metro Corporation : TCMC เป็นผู้บริหารจัดการระบบเดินรถ นอกจากนี้ไต้หวันยังมีแผนลงทุนรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 9 เส้นทางตามหัวเมืองสำคัญ

ทั้งนี้จากที่ได้ไปศึกษาดูงานรถไฟฟ้าที่เมืองไทเปในจำนวน 6 สาย 131 สถานี มีการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี โดยมีศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ หรือ OCC ที่สถานีไทเป (Taipei Main Station) ควบคุมการเดินรถไฟฟ้าทั้ง 6 สายในไทเป และยังเป็นสถานีร่วมของรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางไกลและรถไฟฟ้าเมโทร (MRT) อีกด้วย ในขณะที่ 131 นั้นมีกล้อง CCTV ถึง 11,000 ตัว

นอกจากนี้รถไฟฟ้าในไทเปยังมีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ ตรวจจับปริมาณของผู้โดยสารภายในขบวนรถและแสดงข้อมูลผ่าน แอปพลิเคชัน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเพิ่มขบวนรถเสริมในช่วงเวลาเร่งด่วน มีการใช้ระบบ AI เพื่อทำนายสภาพความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์ภายในขบวนรถ อุปกรณ์ภายในสถานี ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการซ่อมบำรุง ซึ่งส่งผลให้รถไฟมีความตรงเวลาสูงถึง 99.99% และมีความพึงพอใจของผู้ใช้บริการมากกว่า 95%

ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยระบบราง

นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ไทเปมีความใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ อยู่หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีการใช้ชีวิตคลายๆ กับคนไทย ค่าครองชีพ และอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ 20-65 บาท ใกล้เคียงกับไทย เมืองไทเปมีประชากรประมาณ 6.5 ล้านคน ใช้รถไฟฟ้าเดินทางถึง 2 ล้านคนต่อวัน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นเป้าหมายของกรมการขนส่งทางรางที่ต้องการจะพัฒนาให้ระบบรถไฟฟ้าสามารถเป็นระบบหลักในการขนส่งผู้โดยสาร

ระบบการขนส่งรถไฟฟ้าของไต้หวันนั้นมีการวางแผนระบบขนส่งมวลชน การรักษาระดับคุณภาพการให้บริการที่ดีในการใช้ระบบราง มีความปลอดภัย และมาตรการที่ทำให้การเดินทางสะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา ภายในสถานี มีสิ่งอำนวยความสะดวก และมีการออกแบบเพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย โดยมีการออกแบบในรูปแบบ Universal Design (UD) สามารถรองรับการเดินทางของผู้สูงอายุ และผู้พิการ ซึ่งกรมการขนส่งทางรางก็จะนำไปปรับใช้กับระบบรางของประเทศไทย

สำหรับสิ่งที่เห็นเร็วที่สุดในการปรับใช้กับระบบขนส่งทางรางของไทยนั้นคือการนำรายละเอียดเรื่องความปลอดภัย เรื่องการให้บริการเดินรถไฟฟ้าของไต้หวันนำมาปรับใช้ในกฎหมายลูกพระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ. …. ซึ่งพ.ร.บ.ขนส่งทางรางต้องรอเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ยื่นเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในสมัยรัฐบาล “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และได้พิจารณาผ่านวาระที่ 1 ไปแล้ว นอกจากนี้ก็จะนำเอารูปแบบการออกใบอนุญาต ผู้ให้บริการ ระบบราง คนขับรถไฟ คนขับรถไฟฟ้าของไต้หวันมาปรับใช้

ส่วนอีกเรื่องที่สามารถนำมาปรับใช้กับระบบขนส่งทางรางของไทยได้ คือ การพัฒนาระบบรางตามภูมิภาคต่างๆ โดยให้รัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด และตั้งรัฐวิสาหกิจที่ท้องถิ่นถือหุ้นใหญ่ เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้ามีการเชื่อมต่อกัน ซึ่งรัฐบาลกลางไต้หวันก็มีการดำเนินการในรูปแบบนี้ทำให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุน เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และการให้บริการเดินรถไฟฟ้าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน