ขร.สรุปผลศึกษาแผนแม่บทรถไฟฟ้า M-MAP 2 พัฒนาระบบราง 33 เส้นทาง

ผู้ชมทั้งหมด 595 

กรมการขนส่งทางรางสรุปผลศึกษาพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่ M-MAP 2 พัฒนาระบบราง 33 เส้นทาง ชี้มีความพร้อมดำเนินการทันทีจำนวน 4 เส้นทาง รถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย – บึงกุ่ม 1 เส้นทาง เตรียมพร้อมเสนอรัฐบาลใหม่

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เพื่อประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 4 “โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2” หรือ M-MAP 2 ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอสรุปผลการดำเนินงาน M-MAP 2 และการพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทาง ด้วยระบบราง โดยงานสัมมนาดังกล่าวจะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2566 เป็นการสัมมนา ในรูปแบบ onsite และผ่านระบบประชุมออนไลน์

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางราง ได้ดำเนินการจัดทำแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง หรือ Railway Demand Forecast Model แล้วเสร็จ เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์แนวเส้นทางและความต้องการในการเดินทาง ซึ่งนำมาสู่ช่วงของการพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฉบับใหม่ หรือ M-MAP 2 โดยได้ดำเนินการศึกษาแนวเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้า ทั้งจากการทบทวนแผน M-MAP เดิม แผน M-MAP 2 Blueprint ซึ่งทาง JICA เคยศึกษาไว้ ร่วมกับข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและประชาชนในเขตจังหวัดปริมณฑลที่ไปรับฟังความคิดเห็นมา และที่ปรึกษานำเสนอเพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์นโยบายการพัฒนา ทำให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Project Long List) โดยนำมาคัดกรอง ทั้งด้านกายภาพและจำนวนผู้โดยสาร เพื่อให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เลือก (Project Short List) นำมาจัดลำดับความสำคัญและทำแผนการพัฒนาต่อไป ซึ่งเป็นหัวใจของการสัมมนาในครั้งนี้ และในวันนี้นอกจากคณะผู้ศึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากฝั่งไทยแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาถ่ายทอดประสบการณ์การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่น

ดร.พิเชฐ  กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการศึกษาโครงการได้สรุปแผนการพัฒนา M-MAP 2 แนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Project Long List) มีทั้งสิ้น 33 เส้นทาง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.เส้นทาง M-MAP 1 ที่ยังไม่ดำเนินการมีจำนวน 8 เส้นทาง (M) ส่วนเส้นทางใหม่จำนวน 14 เส้นทาง (N)  เสนอต่อขยาย จำนวน 11 เส้นทาง (E) ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญแผนการพัฒนา M-MAP 2  สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

A1 เส้นทางที่มีความจำเป็นและมีความพร้อมดำเนินการทันทีจำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ A1-1) รถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต – ธรรมศาสตร์ (Commuter) A1-2) รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศาลายา (Commuter) A1-3) รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศิริราช (Commuter) A1-4) รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย – บึงกุ่ม (Light Rail)

ทั้งนี้กรมการขนส่งทางรางจะเตรียมจัดทำรายละเอียด M-MAP 2 กลุ่ม A1 เส้นทางที่มีความจำเป็นและมีความพร้อมดำเนินการทันทีนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อพิจารณาอนุมัติดำเนินงานเป็นโครงการเร่งด่วน ตั้งเป้าว่าจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2572 อย่างไรก็ตามสำหรับรูปแบบการลงทุนอาจจะพิจารณาปรับสัดส่วนจากเดิมรัฐ70 %เอกชน 30 %เป็นรัฐ 80 %และเอกชน 20 % ทเพื่อให้สามารถควบคุมค่าโดยสารที่ถูกลงได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

A2 เส้นทางที่มีความจำเป็น แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อนคาดว่าดำเนินการภายในปี 2572 จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่ A2-1) รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ – หัวลำโพง (Commuter) A2-2) รถไฟฟ้าสายสีเขียว สนามกีฬาแห่งชาติ – ยศเส (Heavy Rail) A2-3) รถไฟฟ้าสายสีเขียว บางหว้า – ตลิ่งชัน (Heavy Rail) A2-4) รถไฟฟ้าสายสีแดง วงเวียนใหญ่ – บางบอน (Commuter) A2-5) รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา – สุวรรณภูมิ (Light Rail) A2-6) รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล – ทองหล่อ (Light Rail)

B เส้นทางมีศักยภาพ เนื่องจากผ่านการศึกษาความคุ้มค่าในโครงการ M-MAP 1 หรือเป็นเส้นทางใหม่ที่มีปริมาณผู้โดยสารถึงเกณฑ์ที่จะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้าได้ จำนวน 9 เส้นทาง ได้แก่ B-1) รถไฟฟ้าสายสีฟ้า พระโขนง – ท่าพระ (Light Rail) B-2)รถไฟฟ้าสายสีฟ้า สาทร – ดินแดง (Light Rail) B-3) รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล – ลำลูกกา (Light Rail) B-4) รถไฟฟ้าสายสีเขียว คูคต– วงแหวนรอบนอก (Heavy Rail) B-5) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลิ่งชัน – รัตนาธิเบศร์ (Heavy Rail) B-6) รถไฟฟ้าสายสีเขียว สมุทรปราการ – บางปู (Heavy Rail) B-7) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางแค – พุทธมณฑล สาย 4 (Heavy Rail) B-8) รถไฟฟ้าสายสีแดง บางบอน – มหาชัย – ปากท่อ (Commuter) B-9) รถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง – วงเวียนใหญ่ (Commuter)

C เส้นทาง Feeder ดำเนินการเป็นระบบ Feeder เช่น Tram ล้อยาง, รถเมล์ไฟฟ้า จำนวน 26 เส้นทาง ได้แก่ C-1) เส้นทาง ลาดพร้าว – รัชโยธิน – ท่าน้ำนนท์ C-2) เส้นทาง ดอนเมือง – ศรีสมาน C-3) เส้นทาง ศาลายา – มหาชัย  C-4) เส้นทาง ศรีนครินทร์ – บางบ่อ C-5) เส้นทาง คลอง 6 – องค์รักษ์ C-6) เส้นทาง รัตนาธิเบศร์ – แยกปากเกร็ด C-7) เส้นทาง คลองสาน – ศิริราช C-8) เส้นทาง บางซื่อ – พระราม 3 C-9) เส้นทาง ราชพฤกษ์ – แคราย C-10) เส้นทาง พระโขนง – ศรีนครินทร์ C-11) เส้นทาง บางซื่อ – ปทุมธานี C-12) เส้นทาง เมืองทอง – ปทุมธานี C-13) เส้นทาง บางแค – สำโรง C-14) เส้นทาง แพรกษา – ตำหรุ C-15) เส้นทาง ธรรมศาสตร์ – นวนคร C-16) เส้นทาง บางนา – ช่องนนทรี C-17) เส้นทางสุวรรณภูมิ – บางบ่อ C-18) เส้นทาง บรมราชชนนี – ดินแดง – หลักสี่ C-19) เส้นทาง ธัญบุรี– ธรรมศาสตร์ C-20) เส้นทาง คลอง 3 – คูคต C-21) เส้นทาง มีนบุรี – สุวรรณภูมิ – แพรกษา – สุขุมวิท C-22) เส้นทาง เทพารักษ์ – สมุทรปราการ C-23) เส้นทาง บางใหญ่ – บางบัวทอง C-24) เส้นทาง บางปู – จักรีนฤบดินทร์  C-25) เส้นทาง ครุใน – สมุทรปราการ  C-26) เส้นทาง ปทุมธานี– ธัญบุรี

โดยตลอดระยะเวลาการสัมมนาจะมีการเปิดเวทีให้ผู้ร่วมสัมมนาได้สอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งแบบ onsite และผ่านระบบประชุมออนไลน์ และจะนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมการขนส่งทางรางเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน และแก้ปัญหาจราจร ได้อย่างยั่งยืน