ข่าวดี! แหล่ง “เอราวัณ” ผลิตก๊าซฯแตะ 400 ล.ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ช่วยลดต้นทุนค่าไฟ

ผู้ชมทั้งหมด 245 

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยข่าวดี แหล่งก๊าซธรรมชาติ “เอราวัณ” ในอ่าวไทย เพิ่มอัตราการผลิตแตะ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2566 หลัง ปตท.สผ.เร่งดำเนินงานนับตั้งแต่เริ่มเข้าพื้นที่ ทั้งการตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ และการจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่ม มั่นใจจะสามารถเพิ่มอัตราการผลิตได้ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนธ.ค.นี้ พร้อมแตะระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เดือนเม.ย.2567 ตามเงื่อนไขPSC

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เครือ ปตท.สผ. ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) ได้ทำการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายหลังจากที่ได้เร่งดำเนินงานอย่างทุ่มเทและจริงจัง ตั้งแต่วันที่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (วันที่ 24 เมษายน 2565) จนถึงปัจจุบัน

โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ จำนวน 8 แท่น และการจัดหาแท่นขุดเจาะจำนวน 4 ตัว เพื่อใช้สนับสนุนการเจาะหลุมบนแท่นหลุมผลิตใหม่ และแท่นหลุมผลิตเดิม รวมทั้งมีแผนจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ตัว เพื่อนำมาใช้เร่งการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม ซึ่งความคืบหน้า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 ได้มีการเจาะหลุมแล้วเสร็จจำนวน 96 หลุม จากแผนเจาะหลุมตามแผนงานในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 273 หลุม โดยการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ที่อัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และสามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ตามแผน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลงสำรวจฯ G1/61 ที่อัตรา 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 และที่อัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยจะมีการดำเนินงานสำคัญเพิ่มเติมภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติตามเป้าหมาย อาทิ การติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ การจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติม และการบริหารจัดการการใช้งานแท่นขุดเจาะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ติดตาม กำกับดูแล พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ เพื่อให้การก่อสร้างและติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ การเจาะหลุมผลิต และงานอื่น ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นตามกำหนดการ และเป้าหมาย เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงสำรวจฯ G1/61 กลับมามีอัตราการผลิตสูงสุดในอ่าวไทยอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นข่าวดีต่อสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศ จะส่งผลให้ช่วยลดการนำเข้า LNG จากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้าช่วยลดความผันผวนของภาระค่าไฟฟ้า และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจ และสังคม ให้แก่ประเทศต่อไป