ครม.ไฟเขียวขยับเพดานตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร

ผู้ชมทั้งหมด 270 

ครม.ไฟเขียวจัดสรรงบกลาง 1,800 ล้านบาท อุดหนุนส่วนต่างค่าไฟช่วยผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน พร้อมขยายเพดานตรึงราคาดีเซล ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตรึงราคาLPG ครัวเรือนอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (7 พ.ค.2567) ว่า ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนที่จะสิ้นสุดลง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

โดยมี 3 มาตรการหลัก ได้แก่

1. ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกินราคา 33 บาทต่อลิตร โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2. ราคาปลีกของก๊าซหุงต้ม (LPG) ตรึงอยู่ที่ระดับ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม 3. ส่วนลดค่าไฟ 19.05 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับกลุ่มเปราะบางใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย/เดือนในงวดเดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม 2567

โดยส่วนของงบประมาณที่ใช้ เป็นงบฯกลางจำนวน 1,800 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือการช่วยค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางกลุ่มใช้ไฟไม่เกิน 300 บาท ส่วนการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซLPG ใช้กลไกของกองทุนน้ำมัน

ทั้งนี้ ในส่วนของการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขอให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปก่อน หากไม่พอจึงค่อยมาดูงบกลาง พร้อมขอให้กระทรวงพลังงานได้ชี้แจงรายละเอียดต่อไป

สำหรับฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  ล่าสุด ณ  วันที่ 28 เมษายน 2567  ติดลบ 107,600 แสนล้านบาท  แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน ติดลบ 60,145 ล้านบาท และบัญชีLPG ติดลบ 47,455 ล้านบาท   

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันราคาพลังงานเกือบทุกชนิดมีความผันผวนในระดับสูง เกิดจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งกระทรวงพลังงานภายใต้การนำของตนได้พยายามที่จะช่วยเหลือประชาชนลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งในส่วนของน้ำมันดีเซล รัฐบาลได้กำหนดเพดานไว้ที่ 33 บาทต่อลิตร เนื่องจากสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อุดหนุนติดลบกว่าแสนล้านบาทแล้ว หากไม่อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ 34 – 35 บาทต่อลิตร และอาจจะมีการปรับเพดานหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกในไทยก็จะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ ทั้ง 3 มาตรการที่เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีและได้รับการเห็นชอบในวันนี้ ถือว่า เป็นมาตรการช่วยเหลือในระยะสั้น ตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามตนได้เตรียมรื้อระบบราคาพลังงานใหม่ ปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการอยู่ คาดว่าจะยกร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ คนไทยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานที่มีความยุติธรรม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และจะเป็นการปรับรูปแบบพลังงานของประเทศที่จะมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย