จับตา! ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ นักวิเคราะห์ไทยออยล์ ชี้มีแนวโน้มผันผวน ท่ามกลางสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส

ผู้ชมทั้งหมด 11,558 

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โดยฝ่ายวิเคราะห์น้ำมันประเมินสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ (23-27 ต.ค. 66) คาดว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากสงครามขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ยังคงไร้ข้อสรุปและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งเชิงกว้างจึงส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลง อย่างไรก็ตามราคาคาดจะได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ ผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร โดยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 85-92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 88-95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

ตลาดจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส ที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่องและอาจจะส่งผลกระทบเชิงกว้างนำไปสู่สงครามในตะวันออกกลาง โดยสถานการณ์ล่าสุดอิสราเอลได้อพยพประชาชนออกจากฉนวนกาซาและอยู่ระหว่างการเตรียมตัวใช้มาตรการเข้าจัดการกับกลุ่มฮามาสเพิ่มเติม ส่งผลให้ความรุนแรงยังคงประทุขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ อาทิเช่น ในฉนวนกาซา และทางตอนใต้ของเลบานอน นอกจากนี้ อิหร่านยังได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มประเทศมุสลิมประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันกับอิสราเอล อย่างไรก็ดีผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวค่อนข้างจำกัด เนื่องจากอิสราเอลมีการนำเข้าน้ำมันดิบจาก

ตะวันออกกลางในระดับน้อยขณะที่ทางด้านสหประชาชาติ (UN) รวมถึงหลายประเทศได้มีการเรียกร้องให้อิสราเอล ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมกับชาวปาเลสไตน์ ที่อาศัยอยู่ในฉบวนกาซา และเจรจาหาข้อสรุปในการยุติข้อขัดแย้งให้ได้ในเร็วนี้

กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) ยังคงไม่มีแผนที่จะเรียกการประชุมฉุกเฉิน แม้ว่าอิหร่านจะมีการเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรน้ำมันกับอิสราเอล โดยกลุ่ม OPEC+ ยังคงมาตรการในการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา จนถึงสิ้นปีหน้า สำหรับการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมของซาอุดิอารเบียและรัสเซีย จะมีการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมเดือน พ.ย. 2566

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าจะเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับ การส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 13 ต.ค. 66 ปรับลดลง 4.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับลดลง 0.3 ล้านบาร์เรล ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลงกว่า 0.8 ล้านบาร์เรล สู่ระดับต่ำนับตั้งแต่ปี 2557

ความต้องการใช้น้ำมันของจีนมีแนวโน้มเติบโตในระดับสูงต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยโรงกลั่นน้ำมันดิบของจีนปรับเพิ่มปริมาณการกลั่นขึ้นในเดือน ก.ย. 2566 มาสู่ระดับสูงสุดในรอบประวัติการณ์ที่ราว 15.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงวันหยุดยาวของจีนในปีนี้ การท่องเที่ยวในประเทศปรับเพิ่มขึ้น 71.3% จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 4.1% จากปี 2562 ขณะที่การเดินทางระหว่างประเทศมีการปรับเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 85% ของช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 6 เดือนจนถึง 18 เม.ย. 67 เนื่องจากรัฐบาลเวเนซุเอลาและพรรคฝ่ายค้านตกลงกันที่จะจัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งใสและยุติธรรมในปีหน้า โดยสหรัฐฯ อนุญาตให้สามารถส่งออกน้ำมันดิบไปยังประเทศอื่น นอกเหนือจากสหรัฐฯ และจีน รวมถึง การอนุญาตให้มีการลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมพลังงาน อย่างไรก็ดี ยังคงมาตรการคว่ำบาตรสำหรับการลงทุนร่วมกับบริษัทฯ จากรัสเซีย ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตของเวเนซุเอลามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราว 200,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับปัจจุบันที่ผลิตประมาณ 0.7 – 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ GDP ไตรมาส 3/2566 ของสหรัฐฯ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 2566 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการสหรัฐฯ และยูโรโซน เดือน ต.ค. 2566