ทล.จ่อประมูลที่พักริมทางหลวง 4 โครงการ 5 สัญญา วงเงินลงทุนรวม 7,900 ล้านบาท

ผู้ชมทั้งหมด 463 

ทล.จ่อประมูลที่พักริมทางหลวง 4 โครงการ 5 สัญญา วงเงินลงทุนรวมกว่า 7,900 ล้านบาท นำร่องศรีราชา-บางละมุง พ.ค.นี้ คาดลงนามในสัญญากลางปี 67 ก่อนให้บริการบางส่วนปี 68 และเปิดเต็มรูปแบบปี 69 ส่วน M6 และM81 ประมูลได้ไม่เกินสิ้นปีนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Soumding) สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการ โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา และโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (M7) สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ว่า ทล.เดินหน้าพัฒนาที่พักริมทาง (Rest Area) เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง

โดยปัจจุบันที่พักริมทาง M 7 เปิดให้บริการแล้ว 3 จุด ได้แก่ จุดพักรถลาดกระบัง สถานที่บริการทางหลวงบางปะกง และจุดพักรถหนองรี ส่วนอีก 2 จุด ได้แก่ ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (Sriracha Service Center)  ซึ่งจะเป็นที่พักริมทางขนาดใหญ่ บริเวณ กม.93+750 บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ตั้งอยู่ระหว่างทางแยกต่างระดับบางพระ (คีรี) และทางแยกต่างระดับหนองขาม ขนาดพื้นที่ฝั่งละประมาณ 60 ไร่ และ สถานที่บริการทางหลวงบางละมุง (Bang Lamung Service Area) เป็นที่พักริมทางขนาดกลาง บริเวณ กม.ที่ 137+100 บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ตั้งอยู่ระหว่างทางแยกต่างระดับห้วยใหญ่และทางแยกต่างระดับเขาชีโอน ขนาดพื้นที่ฝั่งละประมาณ 39 ไร่ คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวน และจำหน่ายเอกสารประกวดราคาได้ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ 

สำหรับวงเงินลงทุนรวมของทั้ง 2 โครงการเป็นจำนวน 2,382.02 ล้านบาท ได้แก่ 1.สถานที่บริการทางหลวงบางละมุง 766.45 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินก่อสร้าง 634.16 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 132.29 ล้านบาท และ ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา 1,615.57 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินก่อสร้าง 831.34 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 784.23 ล้านบาท

จากนั้นในเดือนมิ.ย.-ส.ค.66 จะให้เอกชนเตรียมยื่นข้อเสนอ และชี้แจงข้อคิดเห็น ก่อนที่จะเปิดให้ยื่นข้อเสนอในเดือนก.ย.66 จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกประเมินข้อเสนอ จะเจรจาร่างสัญญา และสรุปผลการคัดเลือกฯ คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ไม่เกินกลางปี 67 ก่อนจะให้บริการบางส่วน อาทิ ห้องน้ำ และลานจอดรถ ได้ในปี 68 และเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 69 ทั้งนี้ทั้ง 2 โครงการฯมีอายุสัญญาสัมปทานรวม 32 ปี 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทล.สามารถส่งมอบพื้นที่ทั้ง 2 โครงการให้กับเอกชนที่ชนะการประมูลได้ทั้ง 100% ซึ่งถือเป็นโครงการพัฒนาที่พักริมทาง โครงการนำร่องแรกที่เบื้องต้นจะเปิดให้เฉพาะเอกชนไทยที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในไทยเท่านั้นเข้าร่วมการประมูลได้ โดยไม่ได้เปิดให้เอกชนต่างชาติเข้าร่วมลงทุนเลย เพราะมองว่าเอกชนไทยมีศักยภาพเพียงพออยู่แล้ว

นายปิยพงษ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องผลตอบแทนนั้น เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนในรูปแบบรัฐร่วมเอกชน (PPP Net Cost) จึงจะใช้วิธีให้เอกชนจ่ายผลตอบแทนเป็นรายปี ซึ่งทล.อยู่ระหว่างการทบทวนตัวเลข จากเดิมกำหนดราคาไว้ คือ โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา ประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี และสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง ประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี และจะต้องมีการเพิ่มค่าตอบแทนทุกๆ 3 ปีด้วย

นายปิยพงษ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันภายในสิ้นปี 66 ทล.ยังเตรียมให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) อีก2  แห่ง วงเงินรวม 5,625 ล้านบาท ได้แก่ 1.มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 3,270 ล้านบาท ประกอบด้วยที่พักริมทาง 8 จุด ได้แก่ จุดพักรถวังน้อย จุดพักรถหนองแค สถานที่บริการทางหลวงสระบุรี จุดพักรถทับกวาง ศูนย์บริการทางหลวงปากช่อง จุดพักรถลำตะคอง สถานที่บริการทางหลวง สีคิ้ว และจุดพักรถขามทะเลสอ

และ 2.ที่พักริมทาง บนมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 (M81) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินลงทุน 2,355 ล้านบาท ประกอบด้วยที่พักริมทาง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ สถานที่บริการทางหลวงนครชัยศรี สถานที่บริการทางหลวงนครปฐม และจุดพักรถท่ามะกา คาดว่าจะเปิดประมูลแล้วเสร็จภายในปี 66 และจะลงนามสัญญาได้ในปี 67 ก่อนเริ่มก่อสร้าง ซึ่งมีแผนจะเปิดทดลองบริการพื้นฐาน ได้แก่ ห้องน้ำ ที่จอดรถ และร้านค้าบางส่วนในปี 68 ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 69