ทสภ. เปิดบริการอาคาร SAT-1 เริ่ม 28 ก.ย.66 มั่นใจเปิดเต็มรูปแบบภายในปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 413 

ทอท. เปิดบริการอาคาร SAT-1 ท่าอากาศสุวรรณภูมิ เริ่ม 28 ก.ย. นี้ “ไทยเวียตเจ็ท”  “ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์” ประเดิมใช้บริการ มั่นใจเปิดเต็มรูปแบบภายในปีนี้ แย้มมีอีก 10 สายการบินแห่งชาติจ่อใช้บริการ 

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) และนายกิตติพงศ์ กิตติซจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ) นำคณะสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ กว่า200 คน เข้าเยี่ยมชมอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ก่อนจะเปิดให้บริการแบบ Soft Opening ในวันที่28 ก.ย. 66 เป็นต้นไป

โดยคณะสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมเส้นทางผู้โดยสารทั้งขาออกและขาเข้าระหว่างประเทศ โดยเดินทางระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักและอาคาร SAT-1 ด้วยบริการระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM)

นายกีรติ กล่าวว่า อาคาร SAT-1 มีความพร้อม 100% ในการรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี ระยะแรกจะเป็นผู้โดยสารทึ่เดินทางมาจากประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความแออัดในการใช้บริการของผู้โดยสาร เพิ่มความสะดวกสบาย และยกระดับการให้บริการของ ทสภ.ด้วย โดยการเปิดให้บริการแบบ Soft Opening ในวันที่ 28 ก.ย. 2566 นั้นก็จะทำการประเมินปัญหาติดขัดทุกด้าน เพื่อปรับปรุงแก้ไข ภายใน 1 เดือน จากนั้นในช่วงกลางเดือน พ.ย. 2566 จะพิจารณาว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบได้ไม่ แต่ตนมั่นใจว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบภายในปีนี้

ปัจจุบันมีสายการบินประมาณ 10 สายการบินที่ให้ความสนใจเข้ามาใช้บริการที่อาคาร SAT-1  อาทิ สายการบินเอทีฮัท มหาน  อิมิเรต กาต้า สแกนดิเนเวีย ออลนิปปอน และการบินไทย เป็นต้น ซึ่ง ทอท.อยู่ระหว่างการพิจารณาหามาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับสายการบิน เช่น ค่าเช่าออฟฟิศ เลาจน์ ลดค่าบริการสะพานเทียบท่า เพื่อจูงใจให้มาฝช้บริการที่อาคาร SAT-1 มากขึ้นด้วย ทั้งนี้การให้บริการอาคาร SAT-1 นั้นสามารถรองรับเที่ยวบินได้ประมาณ 350 – 400 เที่ยวบินต่อวัน และรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 1 แสนคนต่อวัน สามารถรองรับเครื่องบินลำใหญ่ อย่างแอร์บัสเอ 380 และมีหลุมจอด 28 หลุม และเล้าน์ขนาดใหญ่ 6 แห่งที่สามารถรองรับสายการบินได้เป็นอย่างดี

นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อาคาร SAT-1 มีระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ( ICS : Individual Carrier System ) เฉพาะขาออก ส่วนระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระขาเข้า อยู่ระหว่างออกแบบ และจัดทำรายละเอียดเงื่อนการประกวดราคา (TOR) งบประมาณก่อสร้าง 3,700 ล้านบาท โดยคาดว่าจะตั้งงบประมาณปี 2567 และเปิดประกวดราคาได้ในปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี เปิดให้บริการได้ในปี 2569 อย่างไรก็ตามระบบลำเลียงกระเป๋าขาเข้าปัจจุบันใช้รถแท็กเตอร์ลากกระเป๋าอยู่ ซึ่งไม่พบปัญหาอุปสรรคในการให้บริการ

ด้าน นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า ทสภ.ได้ผ่านการทดลองปฏิบัติการเต็มรูปแบบอาคาร SAT-1 แบบFull – Scale Trial Operations จำนวน 3 ครั้ง เรียบร้อยแล้ว พบว่ามีความพร้อมอย่างมากสำหรับการเปิดให้บริการแบบ Soft Opening ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 66 เป็นต้นไป ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่าจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการให้บริการของ ทสภ.ในอนาคต ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะมี 2 สายการบินที่จะมาใช้บริการได้แก่ สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และ สายการบินไทยเวียตเจ็ท โดยเที่ยวบินแรกที่ทำการบินเข้ามาที่อาคาร SAT-1 ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ เป็นเที่ยวบินของสายการบินไทยแอร์เอเซียเอ็กซ์ เที่ยวบินที่ XJ 0761เดินทางจาก SHANGHAI ถึง ทสภ. เวลา 10.15 น. ทั้งนี้ ในสัปดาห์แรกที่เปิดให้บริการ สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์จะให้บริการวันละประมาณ 14 เที่ยวบิน และสายการบินไทยเวียตเจ็ทจะให้บริการวันละประมาณ 4 เที่ยวบิน

นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของปัญหาความแออัดที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) นั้นขณะนี้ได้ประสานการทำงานกับกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ตม. ในขาเข้า 200 เคาน์เตอร์และขาออก 200 เคาน์เตอร์ เพื่อให้เพียงพอต่อเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วง Soft Opening การให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร ร้านค้า Duty free ร้านอาหาร และห้องรับรองพิเศษผู้โดยสารพร้อมเปิดให้บริการแล้วบางส่วนทสภ. พร้อมให้บริการอาคาร SAT-1 ควบคู่ไปกับอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal Building) โดยให้ความสำคัญในเรื่องระดับการให้บริการ (Level of Senvice) เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย ปลอดภัยประทับใจเมื่อใช้บริการ โดยเมื่ออาคาร SAT-1 เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ จะเกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ทั้งผู้ใช้บริการ ภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมการบิน ตลอดจนภาคการท่องเที่ยวที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของไทยแล้วยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของ ทสภ. เพื่อมุ่งสู่การเป็นสนามบินชั้นนำระดับโลกอย่างยั่งยืนต่อไป