ทอท. กางแผนบริหารสนามบินอุดรฯ บุรีรัมย์ กระบี่ ยกระดับฮับการบินภูมิภาค

ผู้ชมทั้งหมด 882 

หลังจากรอกันมานานล่าสุดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้เห็นชอบในหลักการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยให้ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง แทน ทย. ประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานกระบี่ เรียกได้ว่าเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าบริหารท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง เนื่องจากว่าสถานการณ์โควิด-19 คลีคลายมากขึ้น หลายประเทศเปิดประเทศ การเดินทางข้ามประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งหากไม่มีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นเหมือนกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็เชื่อว่าปริมาณผู้โดยสารจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ

ดังนั้นการเข้ามาบริหาร 3 ท่าอากาศยาน (อุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่) จึงเป็นโอกาสที่ดีของ ทอท. ที่จะได้พัฒนาบริหารท่าอากาศยานทั้ง 3 นี้ให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติสามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย และการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การเดินทางสะดวก สบาย แถมยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับเป็นฮับด้านการบินของภูมิภาค  

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ภายหลังจากที่ครม.เห็นชอบในหลักการให้ทอท.บริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งนั้น ในขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการศึกษาโดยรับความเห็นของกระทรวงการคลังมาพิจารณา พร้อมจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมก่อนรายงานให้ ครม.รับทราบคาดว่า ทอท. จะสามารถเริ่มเข้าไปดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2566

สำหรับรูปแบบการดำเนินงานนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนหน่วยงานบริหารจัดการ ทาง ทย.ต้องคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และ ทอท.จะต้องเข้าไปเช่าพื้นที่แทน โดย ทอท. ต้องตีมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) เพื่อนำมูลค่าวงเงินดังกล่าว เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานให้มีความเข้มแข็งทั้งนี้ตนได้ให้นโยบายว่า ทอท.จะต้องไปศึกษาวิธีการบริหารให้รอบคอบ ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และแนวทางข้อกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมสูงสุด 

อย่างไรก็ตามในการบริหารสนามบินนั้น ตนมีนโยบายที่ต้องการลดความหนาแน่นของผู้โดยสาร จากปัจจุบันกระจุกตัวอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่านั้น อยากให้กระจายออกไปยังสนามบินภูมิภาคบ้างไม่ใช่เฉพาะผู้โดยสารระหว่างประเทศ แต่ผู้โดยสารในประเทศ (Domestic) ก็เช่นกันควรมีเส้นทางบินต้นทางเริ่มต้นในภูมิภาคไม่ใช่แค่ที่ดอนเมืองเพียงแห่งเดียว เช่น เส้นทางนครราชสีมา (โคราช)-หัวหิน หรือ โคราช-เชียงใหม่ เป็นต้น

ลงทุน 1 หมื่นล้านพัฒนา 3 สนามบิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทอท.ได้กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 9,199.90 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงา เปิดให้บริการในปี 2574) หรือวงเงินลงทุนรวม 10,471 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ)

ทั้งนี้ วงเงินลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็น ท่าอากาศยานอุดรธานี กรอบวงเงินลงทุน 3,523 ล้านบาท, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ 460 ล้านบาท และท่าอากาศยานกระบี่ แบ่งเป็น วงเงินลงทุน 5,216 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาเปิดให้บริการในปี 2574) และกรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 6,487 ล้านบาท

โดยการให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการแทน ทย. จะเป็นการเพิ่มการเพิ่มศักยภาพและบทบาทของท่าอากาศยานในภูมิภาคของ ทย. ที่ปัจจุบันมีบทบาทเป็นท่าอากาศยานระดับจังหวัด (Local airport) เพื่อยกระดับเป็นท่าอากาศยานระดับภาค (Regional Airport) และท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (Secondary Hub Airport) ในอนาคต

มั่นใจพัฒนาสนามบินอุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ เป็นฮับการบิน

ก่อนหน้านั้น นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ระบุว่า การเข้าไปดำเนินการบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ ทอท.ยืนยันว่า มีความพร้อมและศักยภาพเพียงพอที่จะบริหารท่าอากาศยานเพิ่มอีก 3 แห่ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด – 19 เริ่มคลีคลายขึ้น หลายประเทศเปิดประเทศให้เดินทางกันสะดวก สบาย และหากประเทศจีนเปิดประเทศอย่างเป็นทางการก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการฟื้นตัวของผู้โดยสาร

นอกจากนี้แล้วยังเชื่อมั่นว่าท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) โดยท่าอากาศยานอุดรธานีจะเป็นประตูเมือง (Gateway) ไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และอีสานใต้คือ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ให้เป็น Gateway เชื่อมต่อไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา จึงทำให้ทั้ง 2 สนามบินนี้ เหมาะสมที่จะพัฒนายกระดับขึ้นเป็น Hub ขณะที่ท่าอากาศยานกระบี่ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็น Hub ทางภาคใต้ ดังนั้น ทอท. จะจัดทำการตลาดใหม่ โดยปรับเส้นทางบินระหว่างประเทศ ให้สามารถบินตรงจากต่างประเทศไปลงที่ อุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ ได้เลยไม่ต้องบินมาลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง 

ทั้งนี้จากสถิติการเดินทางของผู้โดยสารของ ทอท. ในปี 2562 (ก่อนวิกฤตการณ์ โควิด-19) ทอท.มีส่วนแบ่งการตลาดราวร้อยละ 85 ของผู้โดยสารทั้งหมดของประเทศ โดยจากผู้โดยสารต่างประเทศส่วนใหญ่ที่จะมาเปลี่ยนเครื่อง (Transfer) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองไปยังท่าอากาศยานอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ โดยเฉพาะยุโรปจากสถิติที่ผ่านมามีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 4-5 แสนคนต่อปีที่บินมาเปลี่ยนเครื่องที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วบินต่อไปอุดรธานี

การบินตรงไปยังท่าอากาศยานปลายทางยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้ท่าอากาศยานปลายทางจากการเก็บค่าธรรมเนียมสนามบิน (Passenger Service Charge : PSC) และยังเป็นการลดความแออัดบนน่านฟ้าที่กรุงเทพฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ  ดังนั้นการเข้ามาบริหาร ท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ ทอท. จึงมั่นใจว่าจะช่วยหนุนรายได้ของทอท.เติบโตให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้ถือหุ้น และทย.จะได้รับผลประโยชน์ที่ดี

อนึ่งภายหลังจากที่ ทอท.เข้าไปบริษัทท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ อย่างเป็นทางการก็จะส่งผลให้ท่าอากาศยานภายใต้การบริหารของ ทอท. เพิ่มเป็น 9 แห่ง จากที่บริหารอยู่ 6 ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานภูเก็ต