นักวิชาการ – ก.ต่างประเทศ หนุนรัฐบาล “เศรษฐา” เร่งเจรจาพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา แก้วิกฤตพลังงาน

ผู้ชมทั้งหมด 850 

พื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claimed Area-OCA) เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญด้านพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลทั้งไทย และกัมพูชามีการเจรจากันหลายรอบแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เมื่อปี 2544 ในยุครัฐบาลทักษัณ ณ ตอนนั้นยังเป็นพรรคไทยรักไทย มีการลงนาม MOU ร่วมกันของทั้งสองประเทศ แต่นับเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังถือว่าขยับกันไปไม่ถึงไหน

อย่างไรก็ตามการจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไปจนจบกระบวนการได้หรือไม่ สิ่งที่จะเป็นการปักธงให้เห็นก่อนว่า รัฐบาลชุดใหม่จะทำจริงในเรื่องนี้คือการใส่เรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา ที่เคยอยู่ในนโยบายของพรรคเพื่อไทย ไปรวมไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา

ดังนั้นการกลับมาของพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในรัฐบาลใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะนำเอา MOU มาเจรจากันใหม่อีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาก็เพิ่งได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ พลเอก ฮุน มาเนต เพื่อหาแนวทางร่วมกันพัฒนาพื้นที่ OCA ใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติ ชดเชยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในแหล่งที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตลดลง ซึ่งหากมีการร่วมกันพัฒนาก็จะเป็นการตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงานไทยในอนาคตอีกด้วย

ดร.สุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เข้าใจถึงวิกฤตพลังงานของประเทศ ที่ผ่านมากรมสนธิสัญญาฯ ได้เร่งดำเนินการตามกรอบ MOU 2544 อย่างเต็มที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติทางทะเลและความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสำคัญ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเคยมีปัญหาเรื่องเขตแดนกันมาโดยตลอด อย่างคดีปราสาทพระวิหารที่เกิดขึ้นก็ส่งผลต่อการเจรจา OCA หยุดชะงัก แต่หากเดินหน้าเจรจากันใหม่ก็จะใช้ MOU ฉบับเดิมในการดำเนินการเจรจาเป็นพื้นฐานในการพูดคุยต่อไป ซึ่งทางกัมพูชาเขาก็เห็นประโยชน์ที่จะใช้ MOU เดิมในการเจรจาต่อไป

“ความยากลำบากในการเจรจาพื้นที่ OCA ก็คือความไว้เนื้อเชื่อใจเราต้องสร้างตรงนี้ เราก็วางแผนไว้แล้วว่าจะเชิญทางฝั่งกัมพูชามาพูดคุยต่อก็มีรายละเอียดเยอะที่ต้องเจรจากันก็อยากจะสานต่อตรงนี้ และกระทรวงต่างประเทศก็ต้องร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในการเจรจาให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ”   

ดร.สุพรรณวษา กล่าวว่า สถานะการเจรจานับตั้งแต่ที่ลงนามใน MOU 2544 คณะกรรมการร่วม JTC มีการจัดประชุมไป 2 ครั้ง หารืออย่างไม่เป็นทางการของประธาน JTC ฝ่ายไทยและกัมพูชา 4 ครั้ง Sub-JTC ประชุม 2 ครั้ง โดยกรมสนธิสัญญาฯ จะนำเสนอสถานะและความคืบหน้าการเจรจา OCA ไทย-กัมพูชา ต่อรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะให้เดินหน้าต่อตามกรอบ MOU 2544 เพราะสามารถใช้ JTC ไทย-กัมพูชา เป็นกลไกในการเจรจาให้มีความคืบหน้าได้

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หน่วยงานราชการมีความพร้อมในการเจรจา แต่การเจรจาถ้าฝ่ายไทยไปบีบบังคับให้มันจบเร็วมันก็จะเสียท่าทีการเจรจา ดังนั้นการเจรจาต้องให้ได้ข้อสรุปและเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย พื้นที่ทับซ้อน OCA ไทย-กัมพูชา ฝ่ายไทยเชื้อว่ามีศักยภาพที่จะค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ และแหล่งน้ำมันอยู่มาก การเจรจาที่ล่าช้าก็ด้วยปัจจัยทางการเมืองต่างๆ

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ทั้งสองประเทศมีรัฐบาลใหม่ มีนายกรัฐมนตรีใหม่จึงเป็นโอกาสดีที่จะเร่งเจรจา ซึ่งกรอบการเจรจาก็มีอยู่แล้ว คือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันในปี 2544 ควรจะดำเนินการตามกรอบนี้ไปก่อนดูว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไร แล้วค่อยรายงานต่อรัฐบาล ซึ่งมันจะเร็วจะช้าแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นทางการเมืองของทั้งสองประเทศ

“ตอนนี้บรรยากาศหน้าจะเอื้อยเราก็มีรัฐบาลใหม่เขาก็มีรัฐบาลใหม่ดูสิว่าจะเจรจากันได้แค่ไหน ตามรัฐธรรมนูญของไทยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐภา แล้วถ้ามีข้อตกลงที่จะไปพัฒนาต้องมีการออกกฎหมายรองรับ ฉะนันเรื่องเวลาก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ ถ้าหากเจรจาเสร็จเร็วก็ยิ่งดีเพราะว่าประเทศเราขาดพลังงานและก็มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ เรามีทรัพยากรในประเทศนำขึ้นมาใช้ได้มันก็ดี” ดร.คุรุจิต กล่าว

ด้านมิติความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาแบ่งเขตทางทะเลในอ่าวไทย ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คอนเนคชั่นในกลุ่มผู้นำทางการเมืองระหว่างไทย และกัมพูชา ในหลายครั้งที่ผ่านมาถ้าผู้นำทางการเมืองเป็นมิตรต่อกัน แล้วมีอำนาจในการตัดสินใจนโยบายต่างประเทศก็สามารถช่วยได้ โดยจะต้องทิ้งปัญหาที่ขัดแย้งรอจังหวะที่เหมาะสมแล้วค่อยมาเจรจาตกลงกัน ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาชนก็เป็นอีกส่วนหนึ่งควรจะนำมาพิจารณาด้วยในการบริหารความขัดแย้งเรื่องเขตแดน ปัจจัยสำคัญอีกอย่าง คือ คอนเนคชั่นและการสนับสนุนของผู้นำทางการเมือง

การเมืองไทยที่มีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝั่งรัฐบาลกัมพูชา เรียกได้ว่าตระกูลชินวัตร ตระกูลฮุนเซน ทั้งสองตระกูลค่อนข้างจะสนิทสนมกัน เชื่อว่าบรรยากาศหน้าชื่นมื่นในการเจรจาภายใต้การนำของรัฐบาลเพื่อไทยที่มีความสนิทสนมกับฝั่งกัมพูชา ขณะเดียวกันพรรคร่วมรัฐบาลย่างพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ ต่างก็เป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่จะสามารถช่วยสนับสนุนในการเจรจาได้เป็นอย่างดี เป็นกลุ่มการเมืองที่สามารถดีลกับผู้ใหญ่ทางกัมพูชาได้ อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้นำรัฐบาลที่ทำหน้าที่ในการเจรจาแก้ไขปัญหาก็มักจะถูกภาคประชาสังคมคอยจะจับผิดว่าทำไปเพื่อผลประโยชน์ของชาติหรือเพื่อผลประโยชน์กลุ่มก้อนตนเองอันนี้รัฐบาลก็ต้องอธิบายให้ชัดเจน