นักวิชาการ แนะ “รัฐ” ปลดล็อกกติกา เปิดทางซื้อไฟพลังงานหมุนเวียน 3 รูปแบบแห่งอนาคต

ผู้ชมทั้งหมด 1,318 

สวทช. แนะ “ภาครัฐ– การไฟฟ้า” เร่งปรับตัวปลดล็อกระบบ Enhanced Single-Buyer เตรียมพร้อมรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3 รูปแบบแห่งอนาคต “ ทวิภาคี – Green Tariff – ตลาดซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้า ” สอดรับเทรนด์ Prosumer ผลิตไฟเพิ่มขึ้น    

วันนี้ (3ก.พ.2565) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) จัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาการทบทวนต้นทุนในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและแนวทางการบริหารจัดการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โปรแกรม Zoom โดยโครงการดังกล่าวฯ ทาง สนพ.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และได้ดำเนินการว่างจ้างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี หลังจากเริ่มต้นโครงการเมื่อเดือน ก.พ.2564 เป็นต้นมา

นายพรชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ที่ปรึกษาโครงการฯ ระบุว่า แนวคิดในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบันและอนาคตของไทย ยังต้องเผชิญกับการแก้ไขปัญหาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอดีตที่เป็นลักษณะของการดำเนินนโยบายและปรับแก้ไปนโยบายอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องของการให้การสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ ทั้ง adder และ Fit ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า ดังนั้น ภาครัฐต้องพิจารณาว่ารูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการรับซื้อไฟฟ้าในอนาคตและแนวทางใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป เช่น กลุ่มผู้บริโภคที่กลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง(Prosumer) ที่เติบโตมากขึ้น

ขณะที่ปัจจุบัน โครงการระบบการซื้อขายไฟฟ้าของไทย ยังเป็นระบบ Enhanced Single-Buyer Model (ESB) คือ ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Single buyer) ซึ่งจากผลการศึกษาของโครงการฯนี้ ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบันและอนาคตของไทย จะสามารถดำเนินการได้ใน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

รูปแบบที่ 1 การซื้อขายแบบทวิภาคี(Bilateral) โดยควรเปิดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ไม่ได้มีซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐ สามารถผลิตและส่งขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าทั่วไปข้ามระบบของการไฟฟ้าได้ เช่น การขายให้กับลูกค้าในนิคมอุสาหกรรม จากปัจจุบันกฎหมายยังไม่เปิดช่องให้ดำเนินการ ซึ่งควรมีการจัดเก็บอัตราค่าบริการที่เหมาะสมและเป็นธรรมระหว่างการไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้บริการสายส่ง เพื่อให้เกิดการซื้อขายตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า ที่ในอนาคตผู้บริโภคจะมีทางเลือกในการจัดซื้อไฟฟ้าได้มากขึ้น ตามทิศทางของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าถูกลง

รูปแบบที่ 2 การรับซื้อผ่านกลไกของ Green Tariff ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกลไกดังกล่าว และเป็นเรื่องที่ 3 การไฟฟ้าจะต้องดำเนินการออกระเบียบเพื่อรองรับ และตอบสนองต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการไฟฟ้าสะอาด หรือ RE 100 เช่น กลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ที่ในอนาคตจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสะอาดมากขึ้นเพื่อลดการกีดกันทางการค้า ฉะนั้น หากมีกลไกนี้เข้ามารองรับการซื้อขายพลังงานหมุนเวียน ก็จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐเองก็ไม่ต้องเสียงบประมาณจำนวนมากในการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต โดยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นผู้เข้ามาร่วมเฉลี่ยต้นทุนการใช้พลังงานสะอาดที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ปัจจุบัน การส่งเสริมรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ยังมีข้อผูกพันรับซื้อไฟฟ้าอยู่ราว 10,000 เมกะวัตต์ที่เป็นสัญญาเดิมทั้งรูปแบบ adder และFit ซึ่งคิดเป็นต้นทุนที่ส่งผ่านค่า Ft ราว 30 สตางค์ต่อหน่วย หรือ ประมาณ 60,000 ล้านบาทต่อปีที่รัฐสนับสนุนไป ฉะนั้น หากเปิดรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบใหม่ๆที่มีต้นทุนถูกลง ก็น่าจะสามารถนำมาช่วยเฉลี่ยต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตได้”

และรูปแบบที่ 3 การซื้อขายในตลาดซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้า (Forward Maket) เรื่องนี้ ประเทศไทยได้วางนโยบายมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันบริบทสถานการณ์การใช้พลังงานของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป มีเรื่องการแข่งขันมากขึ้น เปิดให้ผู้ซื้อที่มีศักยภาพสามารถเข้ามามีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำได้มากขึ้น โดยผ่านกลไกของคนกลาง และมีการคิดค่าบริการ แต่ก็ยังสามารถซื้อไฟฟ้าได้ถูกกว่าการซื้อจากการไฟฟ้า ด้วยกลไกตลาดซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้า ที่จะเกิดมากขึ้นในอนาคต

ดังนั้น การไฟฟ้า ต้องเร่งปรับตัวเพราะทั้ง 3 รูปแบบดังกล่าว จะเข้ามากินส่วนแบ่งการขายไฟฟ้าของการไฟฟ้า เนื่องจากผู้ซื้อไฟสามารถยกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าได้ง่ายกว่า การซื้อไฟฟ้ากับเอกชนที่มีข้อผูกพันด้านระยะเวลาเนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้จะถูกกว่าการซื้อกับการไฟฟ้า อีกทั้ง ภาครัฐ จะต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเริ่มใช้วิธีการซื้อขายไฟฟ้าใน 3 รูปแบบดังกล่าว ว่าจะดำเนินการรูปแบบใดได้ก่อน แต่ในอนาคตไทยหนีไม่พ้นการซื้อขายไฟฟ้าทั้ง 3 รูปแบบนี้  

นายพรชัย กล่าวอีกว่าการจะสนับสนุนให้ทั้ง 3 รูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวเกิดขึ้นได้นั้น ยังจำเป็นต้องสร้างกลไกที่เกี่ยวข้องขึ้นมารองรับ เช่น การเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า(Transmission and Distribution TPA), การกำหนดอัตราค่าบริการ ( Wheeling Charge,Balancing Charge, Ancillary Servicer, Policy Expenses), การส่งแผนการรับ-จ่ายไฟฟ้า (Scheduling) และการให้บริการ SWA Energy และ Load Shaping เป็นต้น

นายวีรพัฒน์ เกียติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ระบุว่า โครงการฯดังกล่าว สอดคล้องกับพันธกิจหลักของ สนพ.ในการเสนอแนะนโยบายและบูรณาการแผนการบริหารพลังงานของประเทศและเสนอแนะยุทธศาสตร์การส่งเสริมและการอนุรักษ์พลังงานทดแทนของประเทศ โดยเฉพาะนโยบายด้านไฟฟ้าที่เป็นนโยบายสำคัญที่จะมีการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้มีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ด้วยการส่งเสริมรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ เช่น adder และ Fit ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

แต่เนื่องจากเทคโนโยลีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบันที่มีแนวโน้มต้นทุนถูกลง และมีประสิทธิภาพผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ขณะที่รูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าเดิมมีหลากหลาย จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไฟฟ้าในอนาคตให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

ดังนั้น สนพ.พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นและรับข้อเสนอของหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาจัดทำนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป