นายกฯ-ครม. เตรียมนั่งทดสอบรถไฟฟ้าสายสีชมพู พร้อมเปิดให้ประชาชนนั่งฟรีปลายพ.ย.นี้

ผู้ชมทั้งหมด 8,639 

นายกฯ-ครม. เตรียมนั่งงทดสอบรถไฟฟ้าสายสีชมพู ก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีตลอดเส้นทาง 30 สถานี ปลายเดือนพ.ย.นี้ คาดเริ่มเปิดให้บริการ พร้อมจัดเก็บค่าโดยสารได้ในวันที่ 18 เดือนธ.ค. 66

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม พร้อมด้วย ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (MRT สายสีชมพู) โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ในฐานะกรรมการบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน ร่วมให้การต้อนรับ ณ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ในโอกาสนี้ รมช.คมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และสื่อมวลชน ได้เข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เส้นทางจากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปยังสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16)ด้วย

โดย นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การทดสอบในวันนี้เป็นไปอย่างราบรื่นตลอดเส้นทาง ซึ่งขณะนี้ภาพรวมของทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความก้าวหน้า 99% แล้วเหลือ 1 % ที่ยังต้องเก็บงานรายละเอียดเล็กน้อย แต่ถือว่าดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนแผนกำหนดการที่วางไว้ประมาณ 6-7 เดือน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่จะมาใช้บริการอย่างมาก ทั้งนี้ได้สั่งการให้ผู้ว่าการ รฟม. ดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัมปทาน รวมถึงการทดสอบการเดินรถในแต่ละระยะอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมที่จะเข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริงของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ประมาณปลายเดือนพ.ย.นี้ ก่อนกำหนดเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี ตลอดเส้นทางครบทั้ง 30 สถานี และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ที่จัดเก็บค่าโดยสารได้ภายในเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาทหรือคิดเป็นสถานีละ 1 บาท 50 สตางค์

สำหรับจุดเชื่อมต่อนั้น ผู้ใช้บริการจะต้องเดินทางเชื่อมต่อภายในระยะเวลา 30 นาที โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ เช่น สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเชื่อมต่อกับ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PP11) ของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง โดยเป็นการเชื่อมต่อประเภท Unpaid to Unpaid Area ระหว่างชั้นออกบัตรโดยสาร (Concourse Level) ของสองสถานี มีทางเดินเชื่อมต่อ (Skywalk) และทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ระยะทางประมาณ 346 เมตร

ส่วนสถานีหลักสี่ (PK14) เชื่อมต่อกับ สถานีหลักสี่ (RN06) ของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยเป็นการเชื่อมต่อประเภท Unpaid to Unpaid Area จากชั้นออกบัตรโดยสารของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ที่ระดับดิน ใช้สะพานลอยคนข้ามไปยังชั้นออกบัตรโดยสารของรถไฟชานเมือง มีระยะทางเดินเชื่อมต่อประมาณ 180 เมตร และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) เชื่อมต่อกับ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต เป็นการเชื่อมต่อประเภท Paid to Paid Area ทั้งนี้ยืนยันว่าในจุดทางขึ้นลงที่ยังมีปัญหาอยู่จะสามารถแก้ไขแล้วเสร็จทันตามกำหนดการเปิดให้บริการอย่างแน่นอน

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายนั้น ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าว่าจะต้องดำเนินการให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายมีราคาไม่เกิน 20 บาทตลอดสายภายใน 2 ปี ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคม โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรี รมว.คมนาคม ได้มอบหมายให้คณะทำงานเตรียมหารือกับเอกชนผู้รับสัมปทานแล้ว

ด้าน นายภคพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือนต.ค.66) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีความก้าวหน้างานโยธาร้อยละ 98.30 งานระบบรถไฟฟ้า (M&E) ร้อยละ 99.24 ความก้าวหน้ารวมร้อยละ 98.78 โดย รฟม. ได้กำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัมปทาน รวมถึงการทดสอบการเดินรถในแต่ละระยะอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในช่วงปลายเดือนพ.ย.66  และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนธ.ค.นี้

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ นับเป็นโมโนเรลสายที่ 2 ของประเทศไทย ที่จะช่วยเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือ และจังหวัดนนทบุรี เข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองได้โดยสะดวก โดยโครงการฯ มีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร(กม.) เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 30 สถานี

ประกอบด้วย สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีแคราย สถานีสนามบินน้ำ สถานีสามัคคี สถานีกรมชลประทาน สถานีแยกปากเกร็ด สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 สถานีศรีรัช สถานีเมืองทองธานี สถานีแจ้งวัฒนะ 14 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ สถานีหลักสี่ สถานีราชภัฏพระนคร สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีรามอินทรา 3 สถานีลาดปลาเค้า สถานีรามอินทรา กม.4 สถานีมัยลาภ สถานีวัชรพล สถานีรามอินทรา กม.6 สถานีคู้บอน สถานีรามอินทรา กม.9 สถานีวงแหวนรามอินทรา สถานีนพรัตน์ สถานีบางชัน สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ สถานีตลาดมีนบุรี และสถานีมีนบุรี โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และจุดจอดแล้วจร (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี พร้อมทั้งมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี รถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา (ช่วงบางซื่อ – รังสิต) ที่สถานีหลักสี่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี

ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี นั้น มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ที่สถานีเมืองทองธานี (PK10) เข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ไปสิ้นสุดที่บริเวณทะเลสาบในเมืองทองธานี ประกอบไปด้วย สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) มีระยะทางโดยประมาณ 3 กม. ปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือนต.ค.66) มีความก้าวหน้างานโยธาร้อยละ 41.76 งานระบบรถไฟฟ้า (M&E) ร้อยละ 23.34 ความก้าวหน้ารวมร้อยละ 35.56

ขณะที่นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กล่าวว่า การทดสอบเดินรถเสมือนจริงจะแล้วเสร็จในวันที่ 19 พ.ย. 66 หลังจากนั้นก็จะให้คณะกรรมการตรวจสอบรับรองประกันความมั่นคงและความปลอดภัยของระบบรถไฟฟ้า (ICE) ออกหนังสือรับรองความปลอดภัยถึงจะให้ประชาชนทดลองนั่งฟรีได้ คาดว่าประมาณปลายเดือน พ.ย. นี้ ส่วนกำหนดเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบทาง NBM ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังรฟม.แล้ว เพื่อขอเปิดให้บริการเดินรถเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในวันที่ 18 ธ.ค. 66 อย่างไรก็ตามในขั้นตอนนี้ต้องให้ทางคณะกรรมการ ICE ออกหนังสือรับรองอีกครั้งก่อนเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ดรฟม.) พิจารณาภายใน 21 วัน ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชมครม. ให้พิจารณาค่าโดยสารและอนุมัติให้เปิดเดินรถไฟฟ้าได้

ทั้งนี้เมื่อรถไฟฟ้าสายสีชมพูเปิดให้บริการคาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก แม้ว่าส่วนต่อขยายเข้าไปยังอาคารแสดงสินค้าและหอประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานียังไม่แล้วเสร็จก็ตาม แต่จะมีการจัดรถซัตเติ้ลบัส รับ-ส่งผู้โดยสารจากสถานีเมืองทองเข้าไปยังอาคารแสดงสินค้าและหอประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อีกทั้งในเส้นทางที่รถไฟฟ้าสายสีชมพูผ่านก็มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง อาทิ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ ศูนย์การค้า เอสพลานาด เป็นต้น ทั้งนี้ส่วนต่อขยายเข้าอาคารแสดงสินค้าและหอประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณย์เต็มรูปแบบได้ในต้นปี 68