บอร์ด รฟท.รับทราบแนวทางแก้ไขสัญญารถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

ผู้ชมทั้งหมด 236 

บอร์ด รฟท.รับทราบแนวทางแก้ไขสัญญารถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ตัดเงื่อนไข BOI เพิ่ม Bank Guarantee 1.2 แสนล้าน คาดออก NTP เริ่มงานก่อสร้างภายในสิ้นปีนี้ เปิดให้บริการปี 72

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ว่า ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางในหลักการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 271,823 ล้านบาท ซึ่งมีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่มซีพี) เป็นเอกชนผู้รับสัมปทาน โดยยังคงยึดหลักการเดิม คือ ภาครัฐไม่เสียผลประโยชน์มากเกินกว่าที่อยู่ในกรอบสัญญา และเอกชนไม่ได้รับประโยชน์มากเกินควร โดยหลังจากนี้ รฟท.จะเร่งนำเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบในหลักการก่อนแก้ไขสัญญาโครงการฯต่อไป

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า หากครม.อนุมัติในหลักการให้แก่ไขสัญญาจะถือเป็นการปลดล็อคทุกอย่าง และหลังจากลงนามในสัญญาฉบับใหม่แล้วเสร็จ ทาง รฟท.ก็จะออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP ) ได้ทันทีคาดว่าไม่น่าจะเกินสิ้นปีนี้ จากนั้นจะเริ่มการก่อสร้างและน่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2572 ทั้งนี้การออกหนังสือ NTP นั้น ได้มีการเจรจานำสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกจากเงื่อนไขการออก NTP แล้ว

นอกจากนี้ในส่วนของค่าสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ประมาณ 9,000 ล้านบาทที่เอกชนจะทยอยแบ่งจ่ายออกเป็น 7 งวดๆที่ 1 เริ่มจ่ายพร้อมดอกบี้ยและค่าธรรมเนียมทันทีหลังจากวันที่ออกหนังสือ NTP คาดว่าจะเริ่มจ่ายได้ในปี 2567 และเงินที่รัฐร่วมลงทุน ในโครงการฯ (PIC) วงเงิน 119,000 ล้านบาท ซึ่งเอกชนยังไม่สามารถกู้เงินมาดำเนินโครงการได้ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย และสภาวะการเงินที่ดอกเบี้ยสูงให้ไปจ่ายในเดือนที่ 18 นับจากวันที่ออกหนังสือ NTP นั้นเพื่อเป็นการการันตีว่าเอกชนจะเดินหน้าโครงการนี้ และไม่ให้รัฐเสียประโยชน์จากการจ่ายเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างเร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม จึงเจรจาให้เอกชนนำหลักประกันทางการเงิน (Bank Guarantee) มาวางเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งต้องนำมาวางภายใน 270 วันนับจากวันที่มีการแก้ไขสัญญาและมีการลงนามในสัญญาฉบับใหม่แล้ว

นายอนันต์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องโครงสร้างทับซ้อนระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ช่วงสถานีดอนเมืองนั้น ยังเป็นไปตามเงื่อนไขเดิม ที่เอกชนจะเป็นผู้ก่อสร้างงานโยธาโครงสร้างร่วม ส่วน โครงสร้างทางวิ่ง รฟท. จะต้องขอกรอบงบประมาณดำเนินการประมาณ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งไม่รวมรางรถไฟ ที่อยู่ในส่วนของสัญญา 2.3 ที่เป็นงานระบบ