บอร์ด รฟม. เตรียมพิจารณาร่างสัญญาสายสีส้ม สิ้นเดือนม.ค.นี้

ผู้ชมทั้งหมด 456 

สิ้นเดือนม.ค.นี้ บอร์ด รฟม.พิจารณาร่างสัญญาสายสีส้มหากอัยการสูงสุดไฟเขียว พร้อมเร่งจัดหาขบวนรถ ฝั่งตะวันออกที่คืบหน้ากว่า 98% แล้วเพื่อไม่ให้ต่อการใช้บริการของประชาชน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างจัดทำร่างสัญญา ซึ่งตามขั้นตอนหากสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วเสร็จ จะต้องให้บอร์ด รฟม.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

นายสราวุธ กล่าวว่า บอร์ด รฟม.เห้นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ รฟม.ต้องดำเนินการ เพราะการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 อีกทั้งปัจจุบันโครงการก่อสร้างงานโยธาฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 98% ดังนั้นต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเปิดเดินรถ เพราะสัญญาเดินรถจัดรวมอยู่ในสัญญาร่วมลงทุน เบื้องต้นทราบว่าหากมีการลงนามสัญญากับเอกชนแล้ว จะมีการทยอยจัดหาขบวนรถมาให้บริการฝั่งตะวันออกโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการในปี 2568

นายสราวุธ กล่าวว่า เรื่องนี้แม้จะเร่งด่วนก็ต้องทำให้โปร่งใส รอบคอบ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้รอผลการพิจารณาตามกระบวนการศาลปกครอง หากร่างสัญญาแล้วเสร็จ รฟม.ก็ต้องส่งเรื่องนี้ไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณา และตัดสินใจเนินการ เบื้องต้นจะมีการประชุมบอร์ด รฟม.ช่วงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ดังนั้นต้องรอดูว่าจะมีการรายงานความคืบหน้าหรือไม่อย่างไร

รายงานข่าวจาก รฟม.เผยว่า ภายหลัง รฟม.คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด ขณะนี้ รฟม.ได้จัดทำร่างสัญญา พร้อมส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ ซึ่งดำเนินการตรวจสอบและส่งกลับมายัง รฟม.เรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนหลังจากนี้ รฟม.เตรียมรายงานร่างสัญญาดังกล่าวไปยังบอร์ด รฟม. และกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอไปยัง ครม.พิจารณาอนุมัติ เพื่อดำเนินการลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านประเมินสูงสุด เบื้องต้นไม่สามารถบอกได้ว่าจะลงนามตอบกรอบกำหนดในเดือน ม.ค.นี้หรือไม่ เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็มีนโยบายให้รอผลการตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมของศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ก่อนหน้านี้ รฟม. วางแผนเบื้องต้นจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก เดือน ส.ค.2568 ขณะที่ฝั่งตะวันตก เปิดบริการเดือน ธ.ค.2570