บางจากฯ ผนึก “สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ C-Quester” พัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน

ผู้ชมทั้งหมด 407 

บางจากฯ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ C-Quester จากสหรัฐอเมริกา ผนึกกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน พร้อมต่อยอดศักยภาพสร้างโอกาสทางธุรกิจ

นางกัณฑมาศ กฤตยานุกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการผลิตและจัดส่งน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ศาสตราจารย์ คาซูโอะ ยามาโมโตะ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และ Dr. Clément Cid (เคลมอง ซิด) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท C-Quester จากสหรัฐอเมริกา ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง บริษัทบางจากฯ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียและบริษัท C-Quester เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างโอกาสทางธุรกิจ

โดยมี นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจากฯ ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล หัวหน้าภาควิชาพลังงาน สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ Dr. Alan Gu, Chief Technology Office บริษัท C-Quester ร่วมลงนามเป็นพยาน พร้อมด้วย นายรวี บุญสินสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจใหม่และนวัตกรรม บริษัท บางจากฯ และ Mr. Shawn P. Kelly Executive Director  สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ร่วมเป็นเกียรติในงาน

นางกัณฑมาศ กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน กลุ่มบริษัทบางจาก ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยได้กำหนดแผนงาน BCP 316 NET ที่ชัดเจนเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในระยะยาว ผ่านการผนวกเทคโนโลยีที่ส่งเสริมความยั่งยืน การเพิ่มสัดส่วนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขยายการลงทุนสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงาน พร้อมกับให้ความสำคัญต่อการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งด้วยเทคโนโลยีและโดยธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนของกลุ่มบริษัทบางจาก ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจคาร์บอนต่ำ

“บางจากฯ เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียและบริษัท C-Quester ในครั้งนี้จะขยายขอบเขตการศึกษาและวิจัยเรื่องเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถต่อยอดศักยภาพสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ นอกจากนี้ ยังจะช่วยยกระดับความสามารถของบางจากฯ ในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ทั้งนี้ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบนิเวศใหม่ด้านพลังงาน ยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ ดังนั้น เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้แพร่สู่ชั้นบรรยากาศและสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ จะยังสามารถนำไปแปรสภาพและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ด้วย เทคโนโลยีนี้ จึงนับเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยคาร์บอน และนำไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ

เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จาก บริษัท C-Quester จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจในการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้พลังงานต่ำและได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (CalTech) ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ซึ่งนับเป็นต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อที่จะสามารถจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยการกักเก็บอย่างเหมาะสมหรือนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ต่อไป