“บางจากฯ” หนุน “ตลาดซื้อขายคาร์บอน” กลไกเปลี่ยนผ่านทางพลังงานลดโลกร้อน

ผู้ชมทั้งหมด 737 

“บางจากฯ” แนะอุตสาหกรรมพลังงาน เร่งปรับตัวปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หนุนใช้ “ตลาดซื้อขายคาร์บอน” สะพานเชื่อมการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน สู่ มาตรการระดับโลกตระหนักปัญหาลดโลกร้อน ด้าน “คลัง” ส่งสัญญาณเร่งศึกษาจัดเก็บภาษีคาร์บอน หวังเป็นกลไกให้รัฐบาลใช้ดูแลสิ่งแวดล้อม

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ BCP กล่าวเปิดงานสัมมนา Exponential Path to Net Zero Bangchak 100X-100 ไอเดียเพื่อโลกยั่งยื่น โดยระบุว่า ก๊าซเรือนกระจก อยู่คู่กับมนุษย์มานานแล้ว และเกี่ยวข้องกับทุกวงจรการใช้ชีวิตที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา และต้นไม้จะเป็นผู้กำจัดก๊าซคาร์บอนไดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามกลไกธรรมชาติ ซึ่งก๊าซเรือนกระจก ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะหากไม่มีก๊าซเรือนกระจกเลย จะส่งผลให้อุณหภูมิโลกระหว่างกลางวันและกลางคืนต่างกันประมาณ 30-40 องศา และอาจทำให้มนุษย์หนาวตายในช่วงกลางคืนได้

โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 6-7 ทศวรรษที่ผ่านมา GDP โลกเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ที่สำคัญคือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลับเติบโตเร็วกว่า GDP โลกมาก จนกระทั่งทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงปัญหาและเริ่มหาทางแก้ไข เพราะหากไม่ทำอะไรเลยอุณหภูมิโลก จะสูงขึ้น 2.7 องศา

ดังนั้น เรื่องของ Decarbonization หรือ การใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ใช่แค่เรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า(EV) อย่างเดียว แต่การจะเร่งเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกลงไป อยากให้นึกถึงเรื่องของการปลูกต้นไม้ ซึ่งอุตสาหกรรมโดยทั่วไปจะปลดปล่อยมลพิษ ราว 17% อุตสาหกรรมเกษตร ปลดปล่อย 16% และอุตสาหกรรมพลังงาน ปลดปล่อยถึง 61% ซึ่งผู้ประกอบการพลังงาน ก็ดำเนินการในหลายด้าน เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลงทุนพลังงานหมุนเวียน การสร้างระบบะนิเวศน์ยนต์ไฟฟ้า การกักเก็บคาร์บอน(Carbon capture) และไฮโดรเจน เป็นต้น

โดยกลไกที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานได้เร็วขึ้น คือ Carbon Credit Trading และ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 ที่กำหนดมาตรการออกมาชัดเจน

ขณะที่ บางจากฯ ปัจจุบันได้ริเริ่มเรื่องของการปลูกป่า, การปลูกป่าชายเลย การใช้แก้วกาแฟอินทนิล ก็เป็นไบโอ และที่สำคัญการทำเรื่องของ Synthetic Biology (ชีววิทยาสังเคราะห์) และการเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานก็ได้ดูเรื่องของระบบกักเก็บพลังงาน และการเตรียมพร้อมเดินทางเข้าสู่โลกของไฮโดรเจน ที่อาจจะมาถึงใน 20-30 ปี ซึ่งจะเป็นคำตอบใช้ขับเคลื่อนรถยนต์ ใช้ปั่นไฟ และเก็บกักพลังงานทั้งหมด

ถ้าเราเร่งเกินไป ซึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 เดือนก่อน ราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ยุโรป ปกติจะอยู่ครึ่งหนึ่งของราคาน้ำมัน แต่เดือนก่อน ขึ้นไป 2 เท่าของราคาน้ำมัน เพราะเกิดการขาดแคลนก๊าซฯ ดังนั้น เราต้องสร้างสมดุบระหว่าง 2 เรื่องระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กับความมั่นคงทางพลังงาน ฉะนั้น สะพานเชื่อมการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่สุด เรามองว่า เป็นเรื่องของ ตลาดซื้อขายคาร์บอน (Carbon Market)

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ บางจากฯ ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของบางจากฯ ประมาณ  40% มาจากการลงทุนในธุรกิจสีเขียว และอีก 60% ยังเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งบางจากฯ ก็ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงคุณภาพโรงกลั่น การปลูกป่า การทำสถานีอัดประจุไฟฟ้า และคาร์บอนเครดิตเทรดดิ้ง

ใน 5 ปีข้างหน้า บางจากฯ ตั้งเป้าหมายจะเป็นองกรค์ที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิสู่ชั้นบรรยากาศ(carbon neutral) ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว 50% และฟอสซิล 50% ในปี 2030 ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน การทำเรื่องของ Synthetic Biology  และหวังว่า จะขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ในปี 2050 ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนรายได้ของบางจากฯ ที่มาจากธุรกิจสีเขียวจะเพิ่มเป็น 70-80%

“สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะบรรลุเป้าหมาย net zero จะต้องมาจากดีมานด์ หรือ ตัวของทุกๆคน ที่จะร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตได้อย่างไร เช่น การรีไซเคิล การลดค่าใช้จ่าย พยายามปรับปรุงการทำงานทุกอย่าง สุดท้ายผู้บริโภคเป็นคนขับเคลื่อนให้ emission เกิดขึ้น ถ้าเราลดการบริโภคลงเหมือนในอดีต 30-40ปีก่อน ใช้สินค้าจนไม่สามารถใช้ได้แล้วเรื่องของ emission ก็จะหายไป”

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวบรรยาพิเศษว่า กระทรวงการคลัง มีมาตรการที่จะสนับสนุนนโยบายภาครัฐให้บรรลุเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกรมสรรพสามิต มีเครื่องมือที่ใช้เป็นกลไกดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้มีทีมศึกษาการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร โดยการจัดเก็บภาษีด้านสิ่งแวดล้อมจะยังยึดบนหลักการเดิมคือ ผู้ที่ปล่อยมลพิษจะต้องเป็นผู้จ่ายภาษี

ดังนั้น การจะจัดเก็บภาษีคาร์บอน สิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินการเตรียมพร้อม เริ่มจากการกำหนดราคาคาร์บอน ซึ่งการปลดปล่อยคาร์บอนจะมีต้นทุนและราคาที่ต้องจ่าย ไม่ใช่ว่าใครอยากปล่อย ก็ปล่อยออกมา ดังนั้น หวังว่า การตัดสินใจเลือกการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน จะทำให้ผู้ประกอบการเลือกใช้สิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และปล่อยคาร์บอนน้อยลง

หากย้อนดูประเทศต่างๆที่เป็นผู้นำโลกที่สะอาดการกำหนดราคาคาร์บอน จะอยู่บน 2 วิธี คือ วิธี Carbon Tax ที่มีการอนุญาตให้บริษัท หรือ โรงงาน ปล่อยคาร์บอนได้ในปริมาณเท่าไหร่ และส่วนที่ปล่อยเกินที่กำหนดจะถูกเก็บภาษี ซึ่งมีหน่วยเป็นตันคาร์บอนที่ปล่อยออกมา โดยมาตรการนี้ ก็มีประเทศ ที่เริ่มใช้คือ สิงคโปร์ ใช้เมื่อปี 2019 และญี่ปุ่น ใช้เมื่อปี  2015

และวิธี ซื้อขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก หรือ cap and trade ก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ เพราะหากมีบางอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซฯในปริมาณมาก หรือ เกินจากที่กำหนดไว้ ก็มีหน้าที่ที่จะต้องไปซื้อจากอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้อย แต่ก็จะต้องมีการกำหนดราคาว่า จะต้องไปซื้อที่ตันคาร์บอนในระดับเท่าไหร่ ซึ่งปัจจุบัน ประเทศที่เริ่มใช้วิธีการนี้ คือ จีน และเยอรมัน ที่เริ่มเมื่อช่วงต้นปีนี้ ดังนั้น ก็คงต้องมาดูว่า 2 วิธีนี้ วิธีไหนจะเหมาะสำหรับประเทศไทย และคงต้องมุ่งไปที่ภาคพลังงานก่อน เพราะเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอนในสัดส่วนมากที่สุด แต่วันนี้ ก็ถือเป็นเรื่องนี้ที่ผู้ประกอบการพลังงาน ตื่นตัวและเริ่มดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนลงก่อนที่ภาครัฐจะมีมาตรการออกมา ฉะนั้น มาตรการ Carbon Tax ที่จะออกมา จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการดำเนินการได้เป็นรูปธรรมและเร็วมากขึ้น หรือ เป็นตัวเสริมในสิ่งที่ผู้ประกอบการดำเนินการอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  

ทั้งนี้ ในภาคพลังงาน หากดูรายสาขา จะพบว่า สาขาโรงไฟฟ้า เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนปริมาณมาก ซึ่งหากมี Carbon Tax เกิดขึ้น ก็เชื่อว่า โรงไฟฟ้าจะเลือกใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น โซลาร์ ลม น้ำ มากกว่าถ่านหิน เป็นต้น  

และอีกสาขาภาคการขนส่ง ก็ปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก ซึ่งเดิมกรมสรรพสามิต เคยมีโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่อิงการปล่อยคาร์บอนฯ ที่เริ่มใช้เมื่อ 10 ปีก่อน ฉะนั้นรอบต่อไปที่จะมีการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ การวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนจะต้องเข้มข้นขึ้น เช่น อดีตมองว่า 150 กรัมต่อกิโลเมตร ในอนาคตจะต้องมอง 100-120 กรัมต่อกิโลเมตร หรือ ต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร คือสิ่งที่จะต้องไปให้ถึงสำหรับเครื่องยนต์ ICE หรือ ไฮบริด ซึ่งก็ได้มีการเริ่มพูดคุยกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไปแล้ว ว่าในอนาคตถ้าจะมีการปรับ มาตรการจะเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัวล่วงหน้าและปรับตัว

รวมถึง ในภาคขนส่งที่จะต้องมีการปรับตัวรองรับเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ก็เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเชื่อมั่นว่าในปีหน้าจะมีแนวทางมาตรการส่งเสริมประกาศออกมาอย่างชัดเจน และเชื่อว่ารัฐบาล เดินหน้าอย่างเต็มที่ ซึ่งรถ EV จะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ แต่ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าต้นทางก็ต้องสะอาดด้วย เพื่อให้เกิดความสะอาดทั้งต้นทางและปลายทาง

“จริงๆทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เราต้องเตรียมเครื่องมือให้กับรัฐบาลว่า ถึงวันนึงรัฐบาลจะเลือกใช้เครื่องมืออะไร ในช่วงเอวลาใดที่เหมาะสม วันนั้นก็จะมีความพร้อม ในฝั่งของกระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิต ก็จะมีเรื่องของภาษีคาร์บอนให้รัฐบาลไว้เลือกใช้ในช่วงที่เหมาะสม ซึ่งการตัดสินใจใช้เมื่อไหร่เป็นเรื่องของนโยบาย แต่ฝั่งของเรา ก็มีหน้าที่เตรียมไว้

อย่างไรก็ตาม การศึกษามาตรการภาษีคาร์บอน จะต้องดูว่า เมื่อออกมาใช้แล้วจะตอบโจทย์ว่า ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้จริงหรือไม่ ก็เป็นความท้าทาย หรือในมิติอุตสาหกรรม แน่นอนว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ก็ต้องดูว่าจะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างไร และมุมของผู้บริโภคได้รับผลกระทบหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้วต้นทุนทางภาษีที่เพิ่มขึ้นจะถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภค

ฉะนั้นผู้บริโภคที่มีรายน้อยก็จะได้รับผลกระทบที่สูงกว่า ก็เป็นมิติที่ต้องคำนึงถึง และสุดท้ายเมื่อรัฐบาลเก็บภาษีคาร์บอน ได้เงินเพิ่มขึ้น จะถูกส่งผ่านกลับไปช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมก้าวข้ามสู่สังคมและการผลิตที่สะอาดขึ้นได้อย่างไร ก็เป็นความท้าทายที่จะต้องมีกลไกกำกับดูแลให้เกิดประโยชน์สูงสุด